วันนี้ (20 ธ.ค. 2567) – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงติดตามผลการดำเนินงาน โครงการ OUR Khung BangKachao ปี 2561 – 2566 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา ในนาม ประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานโครงการฯ พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เปิดเผยว่า โครงการ OUR Khung BangKachao ตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดย มูลนิธิชัยพัฒนา น้อมรับพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าสมควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ ไว้เป็นพื้นที่สีเขียว และคงความเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ จึงทำหน้าที่เป็นแกนหลักระดมความร่วมมือ จากหลายภาคส่วน รวม 113 องค์กร ในรูปแบบสานพลังความร่วมมือเพื่อพัฒนาสังคม “Social Collaboration with Collective Impact” ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ มุ่งเน้นการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว การจัดการน้ำ การจัดการขยะ การส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาเยาวชน การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ ซึ่งงบประมาณดังกล่าว นอกจากนำมาจัดทำโครงการให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังสามารถนำมาสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนในพื้นที่ อีกด้วย
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง กล่าวว่า ปตท. ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว พร้อมผสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 34 องค์กร และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานภายใต้เป้าหมายคือ การรักษาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้า 6,000 ไร่ การเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นที่สีเขียว และส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ซึ่งความก้าวหน้าเป็นไปตามเป้าหมาย มีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 80,000 ต้น มีการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านกระบวนการจ้างงานในท้องถิ่นและการจัดหากล้าไม้ของชุมชน อีกทั้งได้ร่วมกับ บริษัท AI And Robotics Venture (ARV) และกรมพัฒนาที่ดิน ติดตามประเมินผลการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ด้วยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและการบินโดรนสำรวจ รวมถึงภาพถ่ายระยะไกลจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่าปัจจุบันมีจำนวนพื้นที่สีเขียวในคุ้งบางกะเจ้าเพิ่มขึ้น 30 % อยู่ที่ 6,148 ไร่ จากเมื่อปี 2562 มีจำนวนเพียง 4,705 ไร่ นับว่าบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้สร้างเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ คนรักคุ้งบางกะเจ้าและเยาวชนรุ่นใหม่ นับเป็นความหวังในการช่วยดูแลพื้นที่สีเขียวให้คงอยู่ยั่งยืนต่อไป
นายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง กล่าวว่า คณะทำงานมุ่งเน้นเชื่อมโยงการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ให้บริหารจัดการน้ำได้อย่างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนา สามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ รวมทั้งสร้าง “พื้นที่แบบอย่างความสำเร็จ” ที่พร้อมจะเป็นต้นแบบขยายผลในการสำรองน้ำจืดและจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อการเกษตร โดยน้อมนำแนวทางจัดการน้ำชุมชนชน ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ สร้างความมั่นคงด้านน้ำ สร้างรายได้จากการเกษตร ชุมชนมีระบบฐานข้อมูลและองค์ความรู้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เกิดเครือข่ายจัดการน้ำชุมชนที่เข้มแข็ง และเกิดศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินในคุ้งบางกะเจ้า
นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการจัดการขยะ กล่าวถึงการกำหนดเป้าหมายในการลดปัญหาขยะในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ใช้แนวทาง Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงาน มุ่งเน้นให้เกิดการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากขยะเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะ 100 % และการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้มากกว่า 50 % ตลอดจนส่งเสริมให้เกิด Social Enterprise ด้านการจัดการขยะในพื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการขยะเพื่อขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการขยะชุมชน และสร้างจิตสำนึกการจัดการปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง
นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ที่ปรึกษา บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพ กล่าวว่า คณะทำงานฯ จากทุกองค์กร ได้ร่วมมือกับชุมชนคุ้งบางกะเจ้าในรูปแบบ Social Collaboration หรือสานพลังความร่วมมือ ผ่านความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วน ทำให้เกิดโมเดลการพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์เกษตร สำรับช่างคาวช่างหวานอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ผลิตภัณฑ์ Upcycling สู่การรับรองมาตรฐานระดับประเทศและสากล รวมถึงการสร้างช่องทางการตลาดสีเขียว (Green Marketplace) ในคุ้งบางกะเจ้า และจัดจำหน่ายสู่ Modern trade ต่อไป
นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การบริหารจัดการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า มี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ระดับตำบล ระดับภาคีเครือข่าย ระดับนโยบาย ซึ่งความสำเร็จเห็นได้จากการที่ทำให้ชุมชนผ่านมาตรฐานและรับรางวัลในระดับประเทศและนานาชาติ เป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ และบริการ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการตลาดท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยนับตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ทั้ง 6 ตำบลในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชนมากถึง 7,102,843 บาท พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำตามมาตรฐานสากล
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะทำงานการพัฒนาเยาวชน การศึกษา และวัฒนธรรม กล่าวถึงการพัฒนาว่าในระยะเวลาการดำเนินงานได้เกิดการจัดการความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชื่อมโยงปราชญ์ชาวบ้านกับเยาวชน โดยผสานความร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ทั้ง 11 แห่ง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ด้วยกลยุทธ์การพัฒนา 4 ทักษะสำคัญ ได้แก่ “ทักษะชีวิต” เพื่อเพิ่มทักษะให้เยาวชน สามารถเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ทักษะอาชีพ” เพื่อเพิ่มทักษะให้เยาวชน มีความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในการทำมาค้าขาย ประกอบสัมมาอาชีพ โดยใช้จุดเด่นของชุมชนมาปรับให้เป็นรูปแบบของอาชีพและสินค้า “ทักษะการเป็นคนดีมีคุณธรรม” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ประพฤติอยู่ในวิถีของความเป็น คนดี ตามหลักพุทธศาสนา ตามจารีตของสังคมไทยอันดีงาม “ทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียน” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้นอกตำรา เปิดกรอบแนวความคิดนอกห้องเรียน เช่น การทัศนศึกษางาน Sustainability Expo เพื่อเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง การรักษาสิ่งแวดล้อม และรักษ์โลกอย่างยั่งยืน การเยี่ยมชมงานศิลปะ Bangkok Art Biennale และงานประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่เป็นของชุมชนคุ้งบางกะเจ้า เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้คุณค่าของงานศิลปะ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นการยกระดับทางการศึกษา พัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพให้กับเยาวชน ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ ได้นำองค์ความรู้ทั้งด้านภูมิสังคมและอัตลักษณ์ของชุมชนคุ้งบางกะเจ้า มาพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน
นอกจากนี้ โครงการ OUR Khung BangKachao ยังมีงานพัฒนากลไกสภาชุมชนโครงการฯ สู่เครือข่ายคนรักคุ้งบางกะเจ้า เพื่อพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งและยั่งยืน ผ่านการอบรม ศึกษาดูงาน และการจัดทำโครงการชุมชน อีกทั้งยังเสริมสร้างการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management: KM) รวบรวมองค์ความรู้ในโครงการฯ จัดทำเป็นรูปแบบหนังสือเผยแพร่ และงานพัฒนาจุดเรียนรู้ และการสร้างการมีส่วนร่วมของ PTT Group มีการพัฒนาจุดเรียนรู้ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า 6 ตำบล 7 แห่ง เป็นศูนย์กลางเผยแพร่การดำเนินโครงการฯ พัฒนาสวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ภายใต้ความร่วมมือของ ปตท. กับ กรมป่าไม้ ประสานความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. เพื่อเป็นพื้นที่สร้างการรับรู้เรื่องการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้าต่อไป
อนึ่ง คุ้งบางกะเจ้า เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้เมือง ล้อมรอบด้วยลำน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ได้แก่ ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกอบัว ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ และตำบลทรงคนอง โดยมีความสำคัญทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการสะสมของตะกอนปากแม่น้ำทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ส่งผลให้สังคมพืช และสัตว์มีความหลากหลาย มีลักษณะเฉพาะตัว
การพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าครอบคลุมทุกมิติ จึงเป็นการสร้างสมดุลอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างของการจัดการพื้นที่สีเขียวภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ เสาร์ 21 ธันวาคม 2567 12:00:00 เข้าชม : 1897542 ครั้ง