จีน มีคำกล่าวที่ ว่า “มหาสมุทรคือบ้านสีฟ้าของมนุษย์ทุกคน” และจีนยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลมากที่สุดในโลก โดยเป็นแหล่งรวมสิ่งมีชีวิตในทะเล กว่า 28,000 สายพันธุ์ คิดเป็น 11% ของสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่มีอยู่ในโลก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลมาโดยตลอด
ล่าสุด รัฐบาลจีนเผยแพร่สมุดปกขาว ความยาวประมาณ 27,000 คำ ว่าด้วยแนวคิดและบทเรียนของจีน ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล ทั้งเรื่องของความสำเร็จของจีน ในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และปกป้องระบบนิเวศทางทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล การส่งเสริมเศรษฐกิจทางทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการร่วมปกป้องและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะล
ในช่วงทศวรรษ ที่ผ่านมา จีน ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2016 จีนได้ฟื้นฟูระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งความยาว กว่า 1,680 กิโลเมตร และพื้นที่ชุ่มน้ำครอบคลุมพื้นที่กว่า 500 ตารางกิโลเมตร ปลูกป่าชายเลนกว่า 70 ตารางกิโลเมตร และฟื้นฟูป่าชายเลน ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร ฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น โลมาขาวจีน แมงดาทะเล นอกจากนี้ ยังจัดทำระบบจัดการและบำบัดน้ำเสียที่ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐาน มีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ในรายงานสมุดปกขาวยังระบุด้วยว่าพื้นที่อ่าว 167 แห่ง จาก 283 แห่ง มีคุณภาพน้ำที่ดีเกินกว่ามาตรฐาน อ่าวหลายแห่งยังพบสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ เช่น วาฬบรูด้า โลมาขาวจีน และนกปากช้อนหน้าดํา ผลจากการดูแลระบบนิเวศทางทะเลที่เป็นที่ประจักษ์ เช่น ทะลปั๋วไห่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมีคุณภาพน้ำดีขึ้นกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด
ความสำเร็จของการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ยังอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ โดยรัฐบาลจีนออกกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะลในปี 1982 มีการแก้ไขกฎหมายและปรับปรุงกฎหมายให้ทันสถานการณ์ ขณะที่ทางการท้องถิ่นยังมีการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เช่น มณฑลไห่หนาน ทางตอนใต้ของจีนออกข้อบังคับเกี่ยวกับการปกป้องแนวปะการัง เมืองเซียะ เหมิน มณฑลฝูเจี้ยนออกข้อบังคับเพื่อปกป้องโลมาขาวจีน เป็นต้น
จีน ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างท่าเรืออัจฉริยะและท่าเรือสีเขียวในเมืองต่าง ๆ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น รวมถึงพัฒนาพื้นที่นำร่องในการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืนตอบโจทย์ทั้งด้านการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล
จีน ยังส่งเสริมความร่วมมือและร่วมขับเคลื่อนการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศกับนานาประเทศ ภายใต้ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) โดยลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางทะเลกับประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ จีนยังจัดตั้งศูนย์วิจัยทางทะเล ห้องปฏิบัติการ และความร่วมมือต่างๆ ร่วมกับ 9 ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ไทย กัมพูชา ไนจีเรีย และจาเมกา เป็นต้น
สมุดปกขาวแนวคิด และบทเรียนของจีนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลนี้ จึงเป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นของจีนในการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล และยังเป็นกรณีศึกษาให้จีนและประเทศต่าง ๆ ร่วมขับเคลื่อนการดูแลระบบนิเวศทางทะเลให้ยั่งยืนในอนาคต ต่อไป
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย ข้อมูล/ภาพ CGTN
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : อังคาร 16 กรกฎาคม 2567 12:00:00 เข้าชม : 1897422 ครั้ง