วันนี้ (30 ตุลาคม 2567) – ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับรางวัล SET Awards ประจำปี 2024 ที่จัดขึ้น โดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร รวม 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน (Sustainability Awards of Honor) และรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านนวัตกรรม (SET Awards of Honor) สะท้อนเจตนารมณ์ของ ปตท. ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ การลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน และสร้างพลังร่วมภายในกลุ่ม ปตท. ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลก อย่างยั่งยืน”
นับเป็นปีที่ 4 ของ ปตท. ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน (Sustainability Awards of Honor) ซึ่งเป็นผลจากความมุ่งมั่นจากการดำเนินงานจนได้รับรางวัล Best Sustainability Awards อย่างต่อเนื่อง
โดย ปตท. ยึดมั่นพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมบูรณาการความยั่งยืนเข้าสู่ธุรกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ. 2050 ด้วยการผสานการบริหารจัดการทั้งกลุ่ม ปตท. ผ่านแนวทางการดำเนินงาน C3 ได้แก่
Climate Resilience Business ปรับ Portfolio และพิจารณาการปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) ควบคู่กับการเติบโตทางธุรกิจ
Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ใช้พลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจน การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งการนำคาร์บอนไดออกไซด์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Carbon Capture and Utilization: CCU) เป็นต้น
Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเป็นแกนหลักของประเทศ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่าน การปลูกและบำรุงรักษาป่า
สำหรับรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านนวัตกรรม (SET Awards of Honor) ปตท. ได้รับจากการคว้ารางวัล Best Innovative Company Awards 4 ปีติดต่อกัน ได้แก่ ปี 2021 ได้รับรางวัลจากผลงานการพัฒนานวัตกรรมวัสดุปิดแผลไบโอเซลลูโลสคอมพอสิต Innaqua ปี 2022 ได้รับจากนวัตกรรม PTT EV Charger and Charging Platform ปี 2023 ได้รับจากผลงานตัวเร่งปฏิกิริยา PTT SCR และในปีนี้ เป็นผลงานการพัฒนา “นวัตกรรมเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนไมโครสเกล หรือ PTT MicroHX” ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยการนำเอาพลังงานเหลือทิ้งในรูปแบบความร้อนหรือความเย็น หมุนเวียนกลับมาใช้ในกระบวนการ (Energy Recovery) ให้เกิดประโยชน์ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการปลดปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคม และชุมชน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วจำนวนกว่า 40 สิทธิบัตร ใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เมียนมา และอินเดีย
ซึ่งในปัจจุบันมีการติดตั้งใช้งานเชิงพาณิชย์ ที่โรงงานผลิตถุงมือยาง จังหวัดชลบุรี และบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) เพื่อใช้ในโครงการ LNG Terminal 1 ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างต่อยอดเชิงพาณิชย์ไปยังกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งในและนอกกลุ่ม ปตท. อีกด้วย
“ปตท. ขอขอบคุณนักวิเคราะห์ นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ ปตท. ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในวันนี้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งขององค์กรในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ปตท. พร้อมดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจรภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล เพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.คงกระพัน กล่าว
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : พฤหัสบดี 31 ตุลาคม 2567 15:28:59 เข้าชม 1693578 ครั้ง