มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพ จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรม Royal Phuket City Hotel อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ และเปิดงาน รศ. ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและกิจการพิเศษ กล่าวรายงาน ศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ บอกเล่ารูปแบบการจัดงาน: Sustainable Event และอธิการบดีของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยข่อนแก่น บอกเล่านโยบายทิศทางการมุ่งเป้าหมายสู่อนาคตของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคณะผู้บริหาร และบุคลากรจาก 3 มหาวิทยาลัย เข้าร่วมประมาณเกือบ 600 คน
ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. (Let’s walk together) ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้กำหนดให้ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงนโยบายและกระบวนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานระหว่างสามมหาวิทยาลัย ให้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งในปีนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 8 เพื่อเป็นการสานพลังสามมหาวิทยาลัย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมในระดับมหภาค ต่อไป
รศ. ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดี ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและกิจการพิเศษ กล่าวว่า โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 8 ในครั้งนี้ มีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตการอุดมศึกษาไทยกับการพัฒนากำลังคน” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การแบ่งปันประสบการณ์ /ความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมของคณะ/ส่วนงาน ระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อ “ห้องสมุด 3 พลังเพื่อแผ่นดิน” และหัวข้อ “การเปิดตัว TDX โดยการส่งหนังสือ Digital ถึงกันโดยอัตโนมัติ”
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย ใน 7 หัวข้อ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ด้านการเรียนการสอน : Skill Mapping การออกแบบหลักสูตร ให้สอดรับกับสมรรถนะนักศึกษา กลุ่มที่ 2 ด้านวิจัย : How To Hunt Global กลุ่มที่ 3 ด้านบริการวิชาการ : SROI การคำนวณ และการใช้ประโยชน์ กลุ่มที่ 4 ด้านบริหารจัดการ : Data Driven University กลุ่มที่ 5 ด้านพัฒนานักศึกษา : ระบบการบริหารและการจัดการสุขภาวะของนักศึกษา กลุ่มที่ 6 ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม : Soft Power Creative Economy กลุ่มที่ 7 Carbon Neutral University และกลุ่มย่อย ชมรมผู้เกษียณอายุ โดยบางหัวข้อได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยาย และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้บริหารของแต่ละมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2567 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดให้มีพิธีมอบธงแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 9 ในปี 2569 อีกด้วย
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : จันทร์ 21 ตุลาคม 2567 16:28:59 เข้าชม 1689322 ครั้ง