เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนร่วมกันจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จาก วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนมาประดิษฐานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราว ระหว่าง วันที่ 5 ธันวาคม 2567-14 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นเวลา 73 วัน เพื่อให้ประชาชนกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
โดย‘พระเขี้ยวแก้ว’ หรือพระทาฐธาตุ คือ พระธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคัมภีร์พระไตรปิฏกในลักขณสูตร ได้กล่าวถึงมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการว่า ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของมหาบุรุษว่า ‘เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์’ พระธาตุเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ ได้แก่ พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐานที่จุฬามณีเจดีย์ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกาลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่ประเทศศรีลังกา พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ แล้วถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองซีอาน ประเทศจีน ปัจจุบันพระธาตุเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง วัดเก่าแก่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
เมื่อปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลจีน อนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทย เป็นครั้งแรก ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545 การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่คนไทยจะมีโอกาสสักการะพระบรมสารีริกธาตุพระเขี้ยวแก้วในประเทศไทย
โดย รัฐบาลไทย จัดพิธีบวงสรวงการจัดสร้างมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำหรับพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จะมีผู้แทนรัฐบาลไทย และพระเถรนุเถระ 10 รูป ร่วมเดินทางไปจีน เพื่ออัญเชิญรับพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม และวันที่ 4 ธันวาคม เวลา 17.00 น. คณะทำงานไทย-จีนจัดให้มีริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ไปยังท้องสนามหลวง อย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ 24 ขบวน
ในงานยังมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 5 โซน ประกอบด้วยโซนที่ 1 “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน” นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โซนที่ 2 “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ” นำเสนอเรื่องราวประวัติพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก โซนที่ 3 “พระเขี้ยวแก้ว” นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญของพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) โซนที่ 4 “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” นำเสนอนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โซนที่ 5 “ความสัมพันธ์ ไทย-จีน” นำเสนอเรื่องราว และเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และประเทศจีน ด้วย
ในโอกาสพิเศษนี้ ผู้เข้าร่วมงานสามารถเข้าร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ระหว่าง วันที่ 5 ธันวาคม 2567-14 กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งแต่ 07.00 – 20.00 นาฬิกา เพื่อความเป็นสิริมงคล
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย / ภาพ : เพจ ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : ศุกร์ 29 พฤศจิกายน 2567 19:45:59 เข้าชม : 1798262 ครั้ง