Home ข่าวเด่น ดิจิทัล ส่องศักยภาพ และความท้าทายของ AI ใน วงการสาธารณสุข

ส่องศักยภาพ และความท้าทายของ AI ใน วงการสาธารณสุข

52 second read
0
0
187

Artificial Intelligence (AI) กำลังพลิกโฉมในทุกแวดวง แม้กระทั่งวงการสาธารณสุข เมื่อเร็ว ๆ นี้ หนึ่งในกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการทางการแพทย์ (Healthcare Provider) ดำเนินกิจการที่ประกอบด้วย เครือโรงพยาบาลเอกชน และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เปิดเผยถึงการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยี AI และ ML ร่วมกับสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างนวัตกรรม ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ การให้บริการในทุกมิติ ในขณะเดียวกัน เล็งเห็นว่าการจะใช้งานนวัตกรรมเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนา User Adoption ทั้งกับบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และผู้รับบริการ

OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP ขอนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์บางส่วนจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมอภิปรายในหัวข้อ AI-Driven Innovation for Longevity ในงาน TMA Digital Dialogue 2024 ที่บอกเล่าศักยภาพของเทคโนโลยี AI เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ การปรับตัวของบุคลากร และผู้ใช้งาน ทั้งในแง่ทักษะการใช้งาน, Mindset (วิธีคิด) และโครงสร้างของระบบ ว่าจะมีบทบาทและสนับสนุนความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจในอนาคตได้อย่างไร

ศักยภาพของ AI เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์

ผู้บริหารฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืนจากองค์กรผู้ให้บริการทางการแพทย์ กล่าวว่าในธุรกิจมีการใช้งาน AI ร่วมกับ IoT กลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่สนับสนุนการรักษามานานกว่า 20 ปี ทั้งในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการรักษา การวิจัย และฝึกอบรมบุคลากร (Simulation / Scenario Training) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ทำให้เกิดปัจจัยที่ช่วยการเห็นภาพ (Visibility) ที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพิ่มความแม่นยำ และลดระยะเวลาในการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งในระยะหลัง AI ได้ถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับความซับซ้อนของข้อมูลทางด้านพันธุกรรม โดยช่วยอ่านค่าผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการ นำมาสู่ “แผนการรักษา และการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล” (Personalized Medicine) ซึ่งช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากการวิเคราะห์จากข้อมูล ที่ติดตัวแต่กำเนิด ข้อมูลเชิงพฤติกรรม และการใช้ชีวิตของบุคคลนั้น ๆ เป็นองค์ประกอบ

ความท้าทายและขอบเขตการมีส่วนร่วมของ AI

ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรผู้พัฒนาเทคโนโลยีให้ข้อมูลว่า AI ทางการแพทย์นั้น มีการพัฒนา และใช้งานมาหลายสิบปีแล้วในรูปแบบของ Machine Learning ตัวอย่างหนึ่งของเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ Healthcare API ที่ใช้ในการตรวจเบาหวานขึ้นจอประสาทตา สามารถอ่านผลเอ็กซเรย์เพื่อบ่งชี้ระดับอาการของโรคเพื่อวางแผนการรักษา ซึ่งมีการนำมาทดสอบ และใช้งานแล้วกับผู้ป่วยหลายหมื่นราย ในประเทศไทย สำหรับการพัฒนาในรูปแบบ Generative AI จะอยู่บนพื้นฐานของการนำข้อมูลจำนวนมากมาใช้งานบน Large Language Models (LLMs) เพื่อให้ส่งคำตอบที่เป็นคำอธิบาย หรือสรุปใจความจากเอกสารมากมายที่ป้อนข้อมูลให้ มากกว่าตอบเพียงว่าใช่หรือไม่ ตัวอย่างเช่น รายงานของแพทย์

แน่นอนว่า ความสามารถในระดับ ที่สร้างปรากฏการณ์นี้ ย่อมมีความท้าทายในหลาย ๆ ด้านตามมา เช่น ความรับผิดชอบต่อข้อมูลส่วนบุคคล การด่วนสรุปและตัดสินใจด้วยข้อมูลจาก AI โดยขาดวิจารณญาณ และการประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบด้าน รวมถึงความเสี่ยงจากการใช้งาน ในทางที่ผิดจริยธรรม ฯลฯ ความท้าทายเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พัฒนาเทคโนโลยี และผู้ใช้งานจะต้องให้ความสำคัญ กับความรับผิดชอบต่อหลักธรรมาภิบาล เพื่อป้องกันผลกระทบในภาพรวม

ในแง่ขอบเขตการมีส่วนร่วม เมื่อมีการนำ AI ไปใช้งาน การตระหนักรู้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาท “เป็นส่วนหนึ่งกับมนุษย์และอาชีพต่าง ๆ” ไม่ว่าแพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข หรืออาชีพใด ๆ เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง โดยอาศัยการปรับมุมมอง และวิธีคิด ว่า AI จะไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์หรืออาชีพไหน แต่จะเข้ามาสนับสนุน และส่งเสริมความสามารถในการทำงาน และการใช้ชีวิต (AI / Human-in-the-loop)

ส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มทักษะให้ผู้ใช้งาน

ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการสอน และการเรียนรู้จากสถาบันอุดมศึกษา ให้มุมมองของ AI ต่อการเป็นแหล่งผลิตบุคลากร ที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเข้าสู่ตลาดแรงงาน ว่า นอกเหนือจากการที่ผู้เรียน จะต้องเพิ่มทักษะการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกวิธี แล้ว วิธีคิด (Mindset) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การใช้ AI นั้นเกิดคุณประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และต่อองค์กร อนาคตหลาย ๆ องค์กรอาจจะไม่ได้เสาะหาคนเก่ง ในเชิงวิชาการ แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะหาคนที่ใช้ AI ได้เก่งและชำนาญด้วย เพราะจะนำมาซึ่งผลิตภาพ (Productivity) ทั้งในแง่มูลค่า ปริมาณ และเวลาที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทักษะทางด้าน “Prompt Engineering” จะกลายเป็นทักษะที่สำคัญมาก เพื่อให้ชุดคำสั่งที่ป้อนเข้าสู่เครื่องมือ AI มีความชัดเจนตามโจทย์ และวัตถุประสงค์ นำมาซึ่งคำตอบที่ต้องการครบถ้วน ได้คุณภาพ

ในแง่สถาบันการศึกษาเองก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัว ปรับโครงสร้างหลักสูตรทางวิชาการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้เหมาะสม และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี ตัวอย่างหนึ่งของสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ คือ การนำ AI มาใช้ฝึกอบรม เพื่อเป็นผู้ช่วยสำหรับหัวข้อ เนื้อหาวิชาขั้นพื้นฐาน หรือกิจกรรมที่ต้องทำเป็นประจำ (Routine Task) เพื่อเพิ่มเวลาให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์กับเคสผู้ป่วยจริงมากขึ้น ยกระดับทักษะ และการเรียนรู้โดยใช้เวลาที่สั้นลง

ใช้งาน AI อย่างไร ให้เกิดความยั่งยืน

หนึ่งในปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จ ในการใช้งาน AI ในองค์กร ผ่านมุมมองของผู้บริหาร ฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน คือ การมีส่วนร่วม และความไว้วางใจในเครื่องมือ AI ของเหล่าแพทย์ และบุคลากร ซึ่งจะได้รับสิทธิในการทดสอบ และประเมินว่าเครื่องมือ AI ประเภทไหน จากผู้พัฒนารายใดมีความเหมาะสม สามารถสนับสนุนการทำงานได้ตรงจุด และราบรื่นสอดรับกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน

ผู้พัฒนานวัตกรรมหลากหลาย ที่ได้รับโอกาส ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนา AI เพื่อธุรกิจที่มีแนวโน้ม ความต้องการใช้งานสูงขึ้นเรื่อย ๆ (Market Pull) ส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพ ระดับประเทศ ยังไม่มีผลงานมากนักในระดับสากล แต่มีจุดเด่น คือ ความเป็นผู้ประกอบการที่มีไอเดีย มีมุมมองที่แตกต่าง มีทีมนักพัฒนาที่มีความสามารถ และแพสชั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อต่อยอดธุรกิจ (Technology Push) ซึ่งเป็นส่วนที่ทดแทนกันได้ มีศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อการสร้าง Ecosystem ที่ยั่งยืนในระยะยาว

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : พฤหัสบดี 22 สิงหาคม 2567  10:12:59 เข้าชม : 1564899 ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ข่าวเด่น ดิจิทัล
Comments are closed.

Check Also

อบจ.ภูเก็ต ร่วมให้ข้อมูล เพื่อการประเมินศักยภาพของ จ.ภูเก็ต ในการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย องค์กรการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นายอานุภาพ เวชว … …