Home ข่าวรอบเกาะภูเก็ต อบจ.ภูเก็ต ร่วมพิธีพลีกรรมตักน้ำ จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

อบจ.ภูเก็ต ร่วมพิธีพลีกรรมตักน้ำ จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

1 second read
0
0
260

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 น. นายเรวัต อารีรอบ นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมพิธีพลีกรรมตักน้ำ จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธี ซึ่งมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ข้าราชการ ภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต และประชาชน เข้าร่วมพิธี

และพิธีเริ่ม จาก นายโสภณ  สุวรรณรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ถวายความเคารพเบื้องหน้า พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วเปิดกรวยกระทงดอกไม้บนธูปเทียนแพ ถวายราชสักการะ จากนั้น จุดธูปเทียนบูชา เพื่อประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ พราหมณ์อ่านโองการบวงสรวง เพื่อบูชาเทพยดา เทพารักษ์ผู้ดูแลรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อ่านคาถาพลีกรรมตักน้ำ จากนั้น ฤกษ์เวลา 14.49 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ทำพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์  21 กระบวย  ใส่ขันสาคร เมื่อเสร็จสิ้น  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เชิญขันน้ำสาคร ซึ่งห่อด้วยผ้าขาว ผูกริบบิ้นสีขาว พร้อมที่ตักน้ำขึ้นขบวนรถบุษบก ไปยังวิหารวัดพระทอง อำเภอถลาง เพื่อไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ณ วิหารวัดพระทอง ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  ในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2567  ฤกษ์เวลา 17.09 น.  และกำหนดประกอบพิธีเวียนเทียน สมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์   ในวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2567  ฤกษ์เวลา 12.00 น.

โดยการแต่งกายในวันที่ 7 และ 8 กรกฎาคม  2567 ข้าราชการพลเรือนสวมเครื่อง แบบเต็มยศ สายสะพายชั้นสูงสุด ไม่สวมหมวก ข้าราชการทหาร ตำรวจ เครื่องแบบเต็มยศ สวมหมวกพร้อมกระบี่ ถุงมือ ประชาชนทั่วไป สวมชุดสภาพโทนสีเหลือง จึงขอเชิญชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวภูเก็ต เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน

ข้อมูลอ้างอิง

สำหรับ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จังหวัดภูเก็ต วัดไชยธาราราม หรือวัดฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่สร้างขึ้นโดยพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี หรือ หลวงพ่อแช่ม อดีตเจ้าอาวาสรูปที่สอง มีลักษณะเป็นบ่อหิน ปากบ่อทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทุกด้านยาว 1 เมตร 60 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เมตร มีน้ำผุดขึ้นเองตามธรรมชาติและน้ำใสสะอาด จากอดีตจนถึงปัจจุบันประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง เลื่อมใสศรัทธา โดยมีความเชื่อว่าน้ำในบ่อนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแก่ผู้ที่ได้ดื่มกินและสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่นำไปประพรมร่างกาย ซึ่งในปี 2554 ได้นำไปประกอบพิธีน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์   ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554   และในปี 2562 นำไปทำน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีในปีพุทธศักราช 2562

ในส่วนของวัดไชยธาราราม หรือวัดฉลอง ตั้งวัดเมื่อพ.ศ. 2380 เป็นวัดแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจาก วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อแช่มหรือพระครูวิสุทธวงศ์ศาจารย์ญาณมุนี  ปูชนียบุคคลที่ได้รับความเคารพสักการะจากประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวจีน ผู้นับถือพระพุทธศาสนามานานกว่าร้อยปี ในฐานะวีรชนผู้ปกป้องบ้านเมืองเนื่องในการต่อต้านชาวจีนอั้งยี่ที่ก่อความวุ่นวายขึ้นในเมืองภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. 2419 และเป็นที่พึ่งทางกายและจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีการบันทึกในเอกสารของชาวต่างประเทศว่า เมื่อปี พ.ศ. 2310 ครั้งอยุธยาจวนจะเสียเมืองแก่พม่า มีเรือสินค้าชาวอังกฤษหนีภัยสงครามมาจากเบงกอลแวะหลบพายุและหาเสบียงอาหารที่อ่าวฉลอง เรือสำเภาอังกฤษลำนั้นได้เข้ามาตามลำน้ำบางใหญ่แต่ก็ได้ถูกชาวบ้านซึ่งประกอบด้วยมลายูและไทยทำร้ายนายเรือปล้นเอาสินค้าไปจนสิ้น บันทึกนี้นับได้ว่าเป็นการกล่าวถึงชุมชนเมืองโตยองเป็นครั้งแรกที่ปรากฎเป็นเอกสารในประวัติศาสตร์ เดิมนั้นวัดที่ตั้งอยู่ในชุมชนแห่งนี้มีอยู่วัดเดียวคือ “วัดโคกโตนด” หรือวัดลัฏฐิวนาราม ต่อมาเมื่อเมืองถลางบางโรงเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2352 ก็มีชาวถลางส่วนหนึ่งอพยพหนีภัยสงครามเข้ามายังลำน้ำบางใหญ่ และตั้งเป็นชุมชนใหม่ขึ้นที่ริมลำน้ำ ได้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่ในสมัยนั้น โดยพ่อท่านเฒ่าซึ่งได้รับอาราธนาให้มาเป็นมิ่งขวัญของผู้อพยพ วัดที่สร้างขึ้นใหม่นั้นมีชื่อว่า“วัดชาวถลาง” หรือ “วัดชาวฉลอง” ต่อมาเพี้ยนมาเป็นวัดฉลอง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2386

ส่วนวัดพระทอง ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2328 ตำนานเรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งโผล่พ้นขึ้นมาจากพื้นดินเพียงพระเกตุมาลา และผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์อันเป็นที่มาของชื่อว่า “พระผุด” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีแค่ครึ่งองค์ มองดูคล้ายกับผุดขึ้นมาจากพื้นดิน มีตำนานเล่าว่า มีเด็กคนหนึ่งได้นำควายไปผูกกับปลักที่โผล่จากพื้นดิน ตอนเย็นนั้นเด็กตาย ควายก็ตาย คืนนั้นพ่อของเด็กฝันว่า ผู้เป็นลูกนั้น ได้นำเชือกควายไปผูกกับพระเกตุของพระพุทธรูปเข้า

รุ่งเช้าพ่อของเด็ก จึงลองไปขุดดู ก็พบพระพุทธรูปจริง ๆ แต่ขุดได้เพียงครึ่งองค์เท่านั้น ก็ไม่สามารถขุดต่อไป ได้อีก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ พระวิหารพระผุด วัดพระทอง ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.   2523 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง  40 เมตร ยาว  80 เมตร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 เสด็จ  วัดพระทอง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2502 ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. บนแผ่นหินไว้เป็นพระอนุสรณ์ หน้าประตูทางเข้าวิหารพระทองการเปลี่ยนแปลงชื่อวัด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ได้เสด็จมานมัสการพระผุด ทรงพระราชทานนาม จากวัดพระผุด มาเป็นชื่อว่า “วัดพระทอง” ตั้งแต่นั้นมา

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : พฤหัสบดี 4 กรกฎาคม 2567  23:00:00 เข้าชม : 1867939 ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ข่าวรอบเกาะภูเก็ต
Comments are closed.

Check Also

อบจ.ภูเก็ต ร่วมให้ข้อมูล เพื่อการประเมินศักยภาพของ จ.ภูเก็ต ในการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย องค์กรการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นายอานุภาพ เวชว … …