กรุงเทพฯ 13 พฤศจิกายน 2567 – แอร์บัส ได้เผยแพร่การคาดการณ์ ตลาดระดับภูมิภาค ครั้งล่าสุด โดยประเมิน ว่า ภาคการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีความต้องการเครื่องบินใหม่ จำนวน 19,500 ลำ ในอีก 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการเครื่องบินทั่วโลก โดย คาดว่า ความต้องการเครื่องบินใหม่ทั้งหมดทั่วโลก จะมีประมาณ 42,430 ลำ ภายในปี 2586
นายอานันท์ สแตนลีย์ (Anand Stanley) ประธาน แอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เปิดเผยข้อมูล และการคาดการณ์ ดังกล่าวระหว่างการประชุมประจำปีของประธานสมาคมสายการบินภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Association of Asia-Pacific Airlines: AAPA) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศบรูไน โดยได้เน้นย้ำถึงการเติบโต อย่างต่อเนื่อง และความสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในตลาดการบินโลก
การคาดการณ์ สำหรับตลาดการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศจีน และอินเดีย นี้ ได้แสดงให้เห็นว่า ความต้องการเครื่องบินใหม่ จะเติบโต 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และจะทำให้ฝูงบินในภูมิภาคขยายตัวเติบโต อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนทั้งจากการเติบโตของตลาดการบิน และความต้องการเครื่องบินใหม่ มาทดแทนเครื่องเดิม เนื่องจากประเด็นด้านความยั่งยืนได้มีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น
แอร์บัส คาดการณ์ ว่า ตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีความต้องการเครื่องบินประเภททางเดินเดียว จำนวน 16,000 ลำ เช่น เครื่องบินในตระกูล เอ220 (A220) และ เอ320นีโอ (A320neo) เพื่อรองรับเส้นทางการบินระยะสั้นถึงระยะกลางในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ ว่า ความต้องการเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลางและขนาดใหญ่ เช่น เอ330นีโอ (A330neo) และ เอ350 (A350) จะมีประมาณ 3,500 ลำ โดยมีการสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างครั้งสำคัญเกิดขึ้นในภูมิภาคเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ คำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น A330neo จากสายการบินคาเธย์แปซิฟิค (Cathey Pacific) และการสั่งซื้อเครื่องบิน A350 โดย อีวีเอแอร์ (EVA Air) เจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines) และ โคเรียนแอร์ (Korean Air) โดยคาดว่ายังมีคำสั่งซื้อที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตในภูมิภาคต่อไป
แอร์บัสประเมิน ว่า ความต้องการในภูมิภาค ประมาณ 71 เปอร์เซ็นต์ จะมาจากการส่งมอบเครื่องบินใหม่ เพื่อสนับสนุนการขยายฝูงบินให้เติบโต ในขณะที่ อีก 29 เปอร์เซ็นต์ จะมาจากการเปลี่ยน เพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่า ซึ่งช่วยส่งเสริมความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่นล่าสุดของแอร์บัส นั้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ในทันที และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ความก้าวหน้าเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแอร์บัส ในการสนับสนุนเป้าหมายของอุตสาหกรรมการบิน ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในด้านของภาคการขนส่งสินค้า แอร์บัส คาดว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความต้องการเครื่องบินขนส่งสินค้าประเภทลำตัวกว้างลำใหม่ จำนวน 250 ลำ ซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการเครื่องบินขนส่งสินค้าใหม่ทั้งหมด ทั่วโลก โดยเครื่องบินรุ่น เอ350เอฟ (A350F) ที่พัฒนาขึ้นจากแพลตฟอร์มของรุ่น A350 ที่ผ่านการพิสูจน์ และได้รับความเชื่อมั่นนั้น มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการตอบสนองต่อความต้องการในส่วนนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม การปล่อย CO2 ที่ลดลง และความคุ้มค่าที่เป็นเสิศ นอกจากนี้เครื่องบิน A350F ยังมีประสิทธิภาพที่ตรงตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ที่ประกาศล่าสุด ทำให้ A350F เป็นตัวเลือกชั้นนำในตลาดเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หนึ่งในการยืนยันถึงประสิทธิภาพ และความเชื่อมั่น สำหรับ A350F ในภูมิภาคนี้ ได้แก่การที่สายการบินสตาร์ลักซ์ (STARLUX) ได้สั่งซื้อ A350F จำนวน 5 ลำ ในช่วงต้นปี ที่ผ่านมา
สำหรับตลาดการขนส่งผู้โดยสาร แอร์บัส คาดว่า ปริมาณผู้โดยสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตในอัตรา 4.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทั่วโลก ที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ โดยเครื่องบินประเภทลำตัวกว้างจะมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของตลาดที่จะเกิดขึ้น เพราะสามารถเพิ่มการเชื่อมโยงในเส้นทางการบินของผู้โดยสาร และตอบสนองความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคด้วยเช่นกัน การค้าแบบอีคอมเมิร์ซและการค้าในระดับโลกจะผลักดันให้เกิดความต้องการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ เครื่องบินลำตัวกว้าง จึงมีความสำคัญต่อการส่งมอบสินค้าที่รวดเร็ว และเชื่อถือได้ระหว่างทวีป
เครื่องบินรุ่น A350 นั้น ถือเป็นผู้นำในตลาดการเดินทางระยะไกล โดยปัจจุบันมี A350 จำนวนเกือบ 300 ลำที่ให้บริการอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และได้มีการสั่งซื้ออีก จำนวน 230 ลำ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ล้ำสมัย ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ยอดเยี่ยม และต้นทุนการดำเนินงานที่คุ้มค่า ทำให้ A350 เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมจากสายการบินทั่วทั้งภูมิภาค
ขณะเดียวกันกระบวนการเปลี่ยนเครื่องบิน เพื่อทดแทนรุ่น เอ330ซีโอ (A330ceo) นั้น ก็ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีเครื่องบิน A330ceo ประมาณ 540 ลำ ให้บริการอยู่ในภูมิภาค ซึ่งรุ่น A330neo นั้น ถือเป็นตัวเลือกเพื่อการเปลี่ยนทดแทนที่เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากรูปแบบการฝึกอบรมนักบิน และการปฏิบัติงานทางเทคนิคที่สอดคล้องและคล้ายคลึงกันระหว่างทั้งสองรุ่น จะช่วยให้สายการบินมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น
นายอานันท์ สแตนลีย์ ประธาน แอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ในฐานะหนึ่งในภูมิภาคที่มีตลาดการบินเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นมีความพร้อมที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในอีกสองทศวรรษข้างหน้า ด้วยความต้องการทั้งในด้านการบริการผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่เพิ่มมากขึ้น เราพร้อมที่จะสนับสนุนพันธมิตรสายการบินของเราให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว ด้วยเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน และมีความทันสมัยมากที่สุด พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนความพยายาม ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วทั้งอุตสาหกรรมการบิน”
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : พุธ 13 พฤศจิกายน 2567 16:42:59 เข้าชม : 1876599 ครั้ง