ตลาดคาร์บอนเครดิตครัวเรือนที่ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีใครทำ แต่มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ทำให้เห็นแล้ว ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างมูลค่า สร้างอนาคตสะอาด ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับภาคครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar cell เพื่อส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำ Carbon Credit ที่ผลิตได้จาก Solar cell และได้รับการรับรองมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย มาแลกเปลี่ยนเป็นคะแนน The 1 ของเครือเซ็นทรัล ฟรี นำร่อง โดย โครงการบ้านพลังงานเป็นศูนย์ของเสนา ตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 300 ครัวเรือน หรือ คะแนน The 1 มากกว่า 4 ล้าน คะแนน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (14 มิ.ย. 67) ที่ห้อง Lotus 3-4 Centara Grand & Bangkok Convention Centre at CentralWorld ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน แถลงข่าวประชาสัมพันธ์โครงการตลาดคาร์บอนครัวเรือน ภาคสมัครใจ ภายใต้งบประมาณหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,กลุ่มเซ็นทรัล และบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน ความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเปิดรับพลังงานสะอาด และการมีส่วนร่วมในโครงการ ตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อนาคตสะอาด และความยั่งยืนในที่สุด
โดย ศาสตราจารย์ ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ให้ทุนโครงการ วิจัยและพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำภายใต้แผนงานพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการใช้ประโยชน์พลังงานสะอาด พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-GreenEconomy: BCG) ในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน วัสดุชีวภาพ และเคมีชีวภาพให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคตโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และดำเนินการร่วมกับการทำแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ
โดยติดตามข้อมูลการผลิตพลังงานจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา และปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสามารถนำก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้แลกเปลี่ยนกับสินค้า หรือบริการของภาคธุรกิจที่เข้าร่วม รวมถึงการจัดทำระบบนิเวศของแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้แพลตฟอร์ม เช่น ภาคครัวเรือนต้องการผลตอบแทนจากการใช้พลังงาน ภาคธุรกิจต้องการปริมาณคาร์บอน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในการดำเนินธุรกิจโดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่จูงใจในการทำธุรกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการ “วิจัย และพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” มีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินโครงการ เนื่องจากนโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งตอบรับกับความร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อนของนานาประเทศ การสนับสนุนตลาดคาร์บอนทั้งในระดับนานาชาติ และระดับประเทศ การเติบโตของจำนวนผู้ใช้พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด ซึ่งในปัจจุบันมีการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ โดยในโครงการจะพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ด้วยการจัดทำแพลตฟอร์มติดตามการผลิตพลังงานทดแทน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยมุ่งเน้นครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar Cell ก่อน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานมาก และมีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน ทั้งนี้แพลตฟอร์มที่จะพัฒนาขึ้นจะสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ไปเป็นสินค้า หรือบริการกับภาคธุรกิจที่เข้าร่วม โดยภาคธุรกิจสามารถนำคาร์บอนที่ได้เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการดำเนินการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.ภาคครัวเรือน มีช่องทางการสร้างรายได้จากการใช้พลังงานสะอาด หรือสามารถแลกเป็นสินค้า และบริการจากภาคธุรกิจที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น ทั้งยังสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้พลังงานสะอาดในการเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน
2.ภาคธุรกิจ สามารถดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในส่วนการใช้พลังงานลสะอาด โดยการซื้อคาร์บอนเครดิต หรือแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มยอดขาย สร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว
3.ประเทศไทย สามารถพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนแบบภาคสมัครใจให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะส่งผลให้ทั้งประชาชน และภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการดำเนินการด้านอื่นที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากขึ้น และยังสร้างผลประโยชน์ร่วมในหลายด้าน เช่น การบรรเทาผลกระทบของมลพิษทางอากาศ, การรักษามั่นคงทางพลังงาน, นวัตกรรมเทคโนโลยี การลดต้นทุนทางพลังงาน การจ้างงาน และลดการย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวหน้า และยั่งยืน ต่อไป
ในส่วนของ รศ.วงกต วงศ์อภัย ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอก สำหรับโครงการภาคสมัครใจของประเทศไทย ได้ดำเนินการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐานต่าง เช่น Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) หรือที่รู้จักในวงกว้างว่า คาร์บอนเครดิต ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กำหนด โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเบื้องต้น 6 ขั้นตอน คือ
1.การจัดทำเอกสารโครงการ / 2.การตรวจสอบเอกสาร หรือ Validation / 3.การขึ้นทะเบียนโครงการ Solar ดังกล่าวกับ อบก. / 4.การดำเนินการโครงการพร้อมการตรวจวัดต่างๆ / 5.การจัดทำเอกสารขอทวนสอบผลคาร์บอนเครดิตที่ได้ ก่อนที่จะนำไป / 6.ยื่นขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากทาง อบก.ในท้ายที่สุด ทั้งนี้ การตรวจสอบเอกสาร และทวนสอบต่างๆ ถือเป็นความสำคัญ และจำเป็นที่ประเทศต้องการ รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในอนาคต
ด้าน คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีความต้องการคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมาก และในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง จากกระแสความตื่นตัว และความมุ่งมั่น ทั้งในระดับประเทศ และระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions และกระแสโลกเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และทุกคนต้องลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ กลุ่มเซ็นทรัล จึงมีความต้องการที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยในการจัดกิจกรรมอีเวนท์ต่างๆ
โดยผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถนำ Carbon Credit 1 ตันคาร์บอน มาแลกเป็นคะแนน The 1 ได้ 1,600 คะแนน เพื่อนำไปเป็นส่วนลดสินค้า และบริการ รวมถึงรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มเซ็นทรัลทั่วประเทศ และกลุ่มเซ็นทรัลมีความมุ่งหวังการเติบโตของธุรกิจจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และตระหนักว่าต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนถึงปลายทางของการจัดการอย่างถูกหลัก โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการปรับเปลี่ยนหันมาใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษด้วยพลังงานสะอาด และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก
ขณะที่ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เสนาฯ ถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทย ที่เริ่มสร้างบ้านพร้อมติดโซลาร์รูฟ ให้พร้อมใช้งานตั้งแต่ซื้อบ้านทั้งโครงการ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ขณะนั้นมองว่าการใช้พลังงานทดแทน คือ เทรนด์ของอนาคต ที่นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกบ้านแล้ว ยังลดการสร้างคาร์บอนที่เป็นต้นเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทั้งนี้ สิ่งที่เสนาให้ความสำคัญคือ การพัฒนาโครงการ และสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการใช้พลังงานทดแทนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอนขององค์กร โดยเฉพาะการนำแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy Housing) ซึ่งประหยัดการใช้ไฟฟ้าของบ้านได้สูงสุดถึง 38 % และการส่งเสริม Decarbonized Lifestyle ให้ลูกบ้านสามารถใช้ชีวิตรักษ์โลกได้ง่ายๆ เพียงอยู่กับเราเท่านั้น ปัจจุบันเสนาติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับลูกบ้าน ทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮมแล้วทั้งหมดทุกโครงการ รวมกว่า 1,000 หลัง
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ลูกบ้านเสนาที่ติดโซลาร์ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจะสามารถนำไปแลกคะแนนเพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือซื้อของต่อไปได้ เช่น ลูกบ้านที่ติดตั้งโซลาร์ 5kw คาร์บอนเครดิตจะถูกคำนวณและสามารถเปลี่ยนเป็นคะแนน The 1 ได้ 600 คะแนน ต่อเดือน หรือ 7,200 คะแนน ต่อปี โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าว่าจะมีลูกบ้านเข้าร่วมโครงการนี้ ไม่น้อยกว่า 300 หลังคาเรือน ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณโครงการดีๆ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงให้โอกาสทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ต่อไป
ที่มา : สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : จันทร์ 17 มิถุนายน 2567 12:18:59 เข้าชม : 1589662 ครั้ง
ใบแทรก ตรวจ ล็อตเตอรี่