วันที่ 25 มิถุนายน 2024 เวลา 14 นาฬิกา 7 นาที (ตามเวลากรุงปักกิ่ง) ประวัติศาสตร์ด้านอวกาศของจีน ต้องถูกจารึกไว้อีกครั้ง เมื่อยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 ลงจอดที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน กลับสู่โลกตามแผนอย่างราบรื่น พร้อมตัวอย่างหินที่เก็บมาจากดวงจันทร์ฝั่งไกล
เท่ากับภารกิจฉางเอ๋อ-6 ในการเดินทางสู่อวกาศและสำรวจดวงจันทร์รวม 53 วัน สำเร็จลุล่วง ตั้งแต่การส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 จากสถานีอวกาศที่เกาะไหหลำขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2024 ใช้เวลาเดินทางถึงดวงจันทร์ 5 วัน รออยู่ในวงโคจร ลงจอดบนดวงจันทร์ด้านไกลเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน เก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์ ด้วยแขนกลอัตโนมัติ กลับสู่วงโคจรในอวกาศ และเดินทางกลับสู่พื้นโลก เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน จนเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย ในวันที่ 25 มิถุนายน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยกย่องภารกิจครั้งนี้ ว่า “ภารกิจครั้งนี้ เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของจีน ที่มาจากความพยายามในการพัฒนาจีนให้เป็นประเทศชั้นนำด้านการบินและอวกาศ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศจีนและประชาชนชาวจีนจะจดจำผลงานที่โดดเด่นนี้ตลอดไป”
ยานฉางเอ๋อ-6 มีภารกิจสำคัญในการเก็บตัวอย่างหิน จากด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ในโลก หลังจากนี้ นักวิจัยจะนำตัวอย่างหินที่เก็บได้จากดวงจันทร์ด้านไกลไปศึกษาต่อไป ตัวอย่างหินที่เก็บได้จากดวงจันทร์ครั้งนี้ จะช่วยพิสูจน์สมมติฐานและเติมเต็มความรู้ในการศึกษาดวงจันทร์ ในหลายเรื่อง
โดยนักวิจัยมีข้อค้นพบจากการศึกษาหิน จากดวงจันทร์ด้านใกล้ ซึ่งเป็นด้านที่มองเห็นจากโลกว่า พื้นผิวดวงจันทร์ด้านใกล้โลกเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ค่อนข้างราบ มีหินภูเขาไฟปกคลุมประมาณ 70 % ขณะที่พื้นผิวของดวงจันทร์ด้านไกลซึ่งเป็นด้านที่หันออกสู่อวกาศมีภูเขาและหลุมอุกกาบาต และมีหินภูมเขาไฟปกคลุม ประมาณ 20-30 % เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีข้อค้นพบว่า หินด้านไกลของดวงจันทร์น่าจะมีอายุประมาณ 3 พันล้านปี ขณะที่หินด้านใกล้ด้วงจันทร์น่าจะมีอายุประมาณ 2 พันล้านปี
Zongyu Yue นักธรณีวิทยาจาก Chinese Academy of Sciences กล่าวว่า หลังจากนี้นักวิจัยหลายทีมจะศึกษาตัวอย่างหินที่เก็บมาจากดวงจันทร์ด้านไกล ซึ่งน่าจะช่วยไขคำตอบว่า สภาพทางธรณีบนดวงจันทร์ด้านใกล้ และด้านไกลมีความแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงช่วยเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของดวงจันทร์ ผลกระทบของอุกกาบาตต่อดวงจันทร์ในยุคแรก และการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของดวงจันทร์ และระบบสุริยะ
หลังจากนี้ จีน ยังมีเป้าหมายต่อไป ในการสำรวจดวงจันทร์ คือ การสำรวจน้ำแข็งบริเวณด้านใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งอาจนำมาผลิตออกซิเจน และเชื้อเพลิงจรวด สำหรับการอาศัยบนดวงจันทร์ ในอนาคต โดยภารกิจฉางเอ๋อ-7 จะมีขึ้นในปี 2026 และภารกิจฉางเอ๋อ-8 จะมีขึ้นในปี 2028 นอกจากนี้ จีน ยังมีแผนจะส่งนักบินอวกาศ ไปเหยียบดวงจันทร์ไม่เกินปี 2030 อีกด้วย
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย ภาพ : Xinhua
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : พุธ 26 มิถุนายน 2567 22:47:59 เข้าชม : 1895279 ครั้ง