Home ข่าวเด่น ดิจิทัล จีน จัดทริป ชวน เยาวชนหลายสิบประเทศ พาส่องเทคโนโลยี-วิสัยทัศน์ของประเทศ

จีน จัดทริป ชวน เยาวชนหลายสิบประเทศ พาส่องเทคโนโลยี-วิสัยทัศน์ของประเทศ

25 second read
0
0
191

เยาวชน 27 คนจาก 21 ประเทศ และดินแดน ไม่ว่า จะเป็นจีน สหรัฐ รัสเซีย เยอรมนี อิตาลี ไทย และญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง เมืองเฉิ่นหยางของมณฑลเหลียวหนิง และเขตใหม่สยงอัน ในโครงการ 2024 Future Close-Up ซึ่งเพิ่งปิดฉากไปเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยงานนี้ มีตัวแทนจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์ เข้าร่วม โครงการในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย ด้วย

งานนี้จัดขึ้นโดย Center for the Americas ในสังกัด China International Communications Group (CICG), สหพันธ์สมาคมเหลียวหนิงแห่งฮ่องกง และฝ่ายการตลาด และประชาสัมพันธ์ประจำบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน อย่างเทนเซ็นต์ (Tencent)

โครงการดังกล่าว จัดขึ้น เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ในธีม “Exploring New Quality Productive Forces” โดยเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้มีทั้งผู้ประกอบการ นักเทคโนโลยี นักวิชาการ ผู้นำทางความคิด และสื่อมวลชน

ในกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีน นั้น ตัวแทนเยาวชนกลุ่มนี้ ได้เยี่ยมชม สำนักงานของเทนเซ็นต์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมซอฟต์แวร์จงกวนชุน หรือที่ได้รับการขนานนาม ว่า เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของจีน เพื่อทำความรู้จักกับเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ของเทนเซ็นต์ รวมถึงแพลตฟอร์มชำระเงินผ่านมือถือ อย่าง WeChat Pay ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ใช้ชีวิตในจีน ได้สะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร และเรียกแท็กซี่

สเตซีย์ แอน เพียร์สัน (Stacey Ann Pearson) หัวหน้าฝ่าย Web3 ประจำเอเชียแปซิฟิก จากอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services) ซึ่งเป็นหนึ่งในเยาวชน ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยจีนไม่ได้เป็นผู้ตามอีกต่อไป แต่จีนได้รับบทบาทเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม” จนกลายเป็นว่านวัตกรรมต่าง ๆ มาจากจีน และมีผู้นำนวัตกรรมจีนไปผลิตซ้ำต่ออีกทอดหนึ่งแทน

ส่วนที่เมืองเฉิ่นหยาง และมณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน นั้น เยาวชนที่ร่วมโครงการได้เยี่ยมชมโรงงานของบริษัทผลิตภัณฑ์นมยักษ์ใหญ่ของจีน ที่คนไทยอาจพอคุ้นชื่อกันบ้างอย่างอีลี่ (Yili) พิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมจีน ไปจนถึงศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมนานาชาติองค์กรจีน-เยอรมนี ถนนนานาชาติจีน-เยอรมนี ซึ่งสะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์อันดี ระหว่างจีนกับเยอรมนีในพื้นที่นี้

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้มีโอกาส เยือนเขตใหม่สยงอัน (Xiong’an New Area) เจ้าของฉายา “เมืองแห่งอนาคต” ของจีน ห่างจากกรุงปักกิ่ง ราว 100 กิโลเมตร และได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งปัจจุบันแออัดมากเกินไป เพราะมีประชากร กว่า 21 ล้าน คน หรือมากกว่ากรุงเทพฯ ถึงเท่าตัว

เขตใหม่สยงอันถือกำเนิดขึ้น เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 เมื่อทางการจีนได้ประกาศแผนจัดตั้งเขตใหม่ดังกล่าว โดยหวังปั้นสยงอันให้เป็นเมืองระดับโลก ที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชาญฉลาด

ทางการจีน ได้สร้างเขตใหม่สยงอัน ตั้งแต่ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เมื่อ 7 ปีก่อน ทำให้วางผังเมืองได้ตามที่ต้องการ โดยได้สำรวจเมืองหลายสืบเมืองทั่วโลก เพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างเมืองใหม่นี้ ให้น่าอยู่ ส่งผลให้เขตใหม่สยงอันมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 70% และไม่มีตึกสูงมากเหมือนกับกรุงปักกิ่ง สูงสุดแค่ประมาณ 150 เมตร ทั้งยังมีการสร้างที่จอดรถใต้ดิน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยใช้จอดรถแทนการจอดริมถนน เพราะเมืองนี้ไม่อนุญาตให้จอดรถริมถนน

นอกจากนี้ การก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อีกด้วย เช่น กระจกที่ใช้ในการสร้างอาคารนั้น ดูดซับแสงอาทิตย์เพื่อใช้เป็นพลังงานได้ ทั้งยังมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คอยทำหน้าที่ปรับอุณหภูมิภายในอาคารตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนคนในอาคาร องศาของดวงอาทิตย์ เป็นต้น เพื่อให้ใช้พลังงานได้คุ้มค่าที่สุด

ปัจจุบัน เขตใหม่สยงอัน มีประชากรอยู่อาศัยจริง แล้ว ประมาณ 1 ล้าน คน จากที่ตั้งเป้าให้มีผู้อยู่อาศัย ให้ได้กว่า 5 ล้าน คน เท่ากับว่าหนทางยังอยู่อีกยาวไกล โดยทางการจีนก็มีนโยบาย เพื่อดึงดูดให้ผู้ที่อยู่อาศัยในปักกิ่ง ย้ายมาอยู่ในเมืองใหม่นี้แทน ไม่ว่า จะใช้ไม้แข็งด้วยการ “สั่ง” ผู้ที่ทำงานในภาครัฐ ให้ย้ายมาอยู่ในเมืองใหม่นี้ หรือเพิ่มค่าจ้างให้ผู้ที่ย้ายมาทำงาน ในเมืองใหม่ ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ถูกกว่ากรุงปักกิ่ง ก็ทำให้เมืองนี้น่าย้ายมาอยู่มากขึ้น ทั้งยังมีแผนดึงดูดคนรุ่นใหม่ เช่น ผู้ที่สำเร็จการศึกษา และเพิ่งเริ่มทำงานให้มาอยู่ในเมืองนี้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ ไม่ได้มีภาระจากการที่ต้องลงหลักปักฐานเหมือนผู้ใหญ่ที่ทำงานมานาน ขณะเดียวกันก็มีแผนเชิญธุรกิจทั้งจีน และต่างชาติให้มาทำธุรกิจในเขตใหม่สยงอันด้วย

ทั้งนี้ โครงการ Future Close-Up มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวทั่วโลก เข้าใจจีนมากขึ้น โดยเป็นเวทีให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างจีน กับนานาประเทศ ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่สองแล้ว

กนิษฐ์นุช สิริสุทธิ์ จากทีมข่าวต่างประเทศ สำนักข่าว อินโฟเควสท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเยาวชน ที่ร่วมโครงการนี้ ได้เปิดเผยความประทับใจจากทริปนี้ว่า การเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4 แล้ว และทุกครั้งที่ได้มาก็รู้สึกทึ่ง ไปกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีน รวมถึงมันสมอง และความมุ่งมั่นของคนจีน ในการใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิต เทคโนโลยีที่ประทับใจที่สุดจากทริปนี้คือเทคโนโลยีสแกนฝ่ามือของเทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ฝ่ามือของเรา ในการชำระเงิน เช่น สแกนฝ่ามือ เพื่อใช้บริการรถไฟใต้ดิน หรือจ่ายค่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีการนำร่องใช้งานจริงแล้ว ในพื้นที่บางส่วนของจีน เมื่อได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ ก็อดคิดไม่ได้ ว่า อยากให้ประเทศไทย มีอะไรแบบนี้ เช่นกัน เพื่อให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายมากขึ้น

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : อาทิตย์  30 มิถุนายน 2567  13:07:59 เข้าชม : 1598733 ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ข่าวเด่น ดิจิทัล
Comments are closed.

Check Also

อบจ.ภูเก็ต ร่วมให้ข้อมูล เพื่อการประเมินศักยภาพของ จ.ภูเก็ต ในการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย องค์กรการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นายอานุภาพ เวชว … …