Home ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชม “ดินจากดวงจันทร์” จากยานฉางเอ๋อ 5 ในงานอว.แฟร์ 22-28 กรกฎาคมนี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชม “ดินจากดวงจันทร์” จากยานฉางเอ๋อ 5 ในงานอว.แฟร์ 22-28 กรกฎาคมนี้

10 second read
0
0
211

ตัวอย่างดินจากดวงจันทร์จากภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของยานรฉางเอ๋อ 5 ถูกนำมาจัดแสดงในงาน อว.แฟร์ ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) ให้ยืมตัวอย่างดินจากดวงจันทร์มาจัดแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้คนไทยได้ชมอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการจัดแสดงดินจากดวงจันทร์นอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติระบุว่า ตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ ที่นำมาจัดแสดงนี้ มีชื่อในภาษาจีน ว่า “หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน” แปลว่า “ดวงจันทร์ส่องแสงมาที่ฉัน” ตัวอย่างดินที่นำมาจัดแสดงมีน้ำหนัก 75 มิลลิกรัม จัดเก็บในคริสตัลทรงกลมรูปดวงจันทรเต็มดวง  เส้นผ่านศูนย์กลาง 20 มิลลิเมตร ทำจากกระจกพิเศษ ที่ใช้เป็นแว่นขยายคริสตัลทรงกลม ตั้งอยู่บนฐานคริสตัลทรงสี่เหลี่ยมคางหมู 3 ชั้น หมายถึงการปฏิบัติภารกิจของยานฉางเอ๋อ 5 ใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การโคจร การลงจอด และการส่งตัวอย่างกลับโลก

ความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์ แสดงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศของจีน โดยยานฉางเอ๋อ 5 ขึ้นสู่อวกาศระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 17 ธันวาคม 2020 เก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์ด้วยการใช้สว่านขุดลงไปและการตักตัวอย่างจากพื้นผิว นำตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลก 1,731 กรัม เพื่อศึกษาวิจัย ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศที่ 3 ในโลกที่สามารถเก็บตัวอย่างหินและดินบนดวงจันทร์กลับมายังโลกได้สำเร็จ รองจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต และเป็นการเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์สำเร็จ ในรอบ 40 ปี หลังจากยาน Luna 24 ของสหภาพโซเวียตเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์เมื่อปี 1976

ตัวอย่างหินและดินที่ได้จากยานฉางเอ๋อ 5 ในปี 2020 นี้ ยังมีความน่าสนใจ เพราะมาจากตำแหน่งลงจอดที่เป็นแอ่งลาวาขนาดใหญ่ ในส่วน Oceanus Procellarum หรือ “มหาสมุทรแห่งพายุ” ซึ่งเกิดจากภูเขาไฟที่ปะทุขึ้น ทำให้ได้หินและดินจากดวงจันทร์ที่มีอายุประมาณ 2,000 ล้านปี จากที่ก่อนหน้านี้ยานสำรวจเคยเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์ที่มีอายุ มากกว่า 3,000 ล้านปี และอายุน้อยกว่า 1,000 ล้านปี หินและดินชุดนี้จึงช่วยเต็มเติมการศึกษาดวงจันทร์ในช่วงเวลาที่ขาดหายไป

หลังจากที่ได้หิน และดินจากดวงจันทร์ จากภารกิจฉางเอ๋อ 5 นักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างหิน ผลการศึกษาพบแร่ธาตุชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยพบมาก่อนในโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า “ฉางเอ๋อไซต์” (changesite-(Y) แร่ธาตุที่พบจัดอยู่ในกลุ่มแร่ฟอสเฟตจำพวก merrillite มีลักษณะใสไม่มีสี การค้นพบนี้ จึงเป็นองค์ความรู้สำคัญในการศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการตั้งสถานีวิจัยของมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคต โดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนยังได้แบ่งตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์ให้กับห้องวิจัยในหลายประเทศร่วมกันศึกษา เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวีเดน ออสเตรเลีย เป็นต้น

การจัดแสดงดินจากดวงจันทร์ จากภารกิจฉางเอ๋อ 5 นี้ เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน และนับเป็นโอกาสพิเศษที่คนไทยจะได้ชมดินจากดวงจันทร์ อย่างใกล้ชิด ท่านที่สนใจสามารถร่วมชมได้ที่บูธสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ใน งาน อว. แฟร์ ระหว่าง วันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567  เวลา 09:00-20:00 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

บทความ/ภาพ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : ศุกร์ 26 กรกฎาคม 2567  01:08:59 เข้าชม : 1897542 ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์
Comments are closed.

Check Also

อบจ.ภูเก็ต ร่วมให้ข้อมูล เพื่อการประเมินศักยภาพของ จ.ภูเก็ต ในการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย องค์กรการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นายอานุภาพ เวชว … …