ยานสํารวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 ถูกส่งขึ้นไปยังดวงจันทร์ โดยลงจอดบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2024 ภารกิจสำคัญคือ การเก็บตัวอย่างดินจากดวงจันทร์กลับมา ให้นักวิจัยไขปริศนาของดวงจันทร์ ในหลายเรื่อง
ภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ยานฉางเอ๋อ-6 เก็บตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ได้ จำนวน 1,935.3 กรัม และกลับสู่โลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา จากนั้น ทีมนักวิจัยจากหอดูดาวแห่งชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ศูนย์วิศวกรรมอวกาศและสํารวจดวงจันทร์ และสถาบันวิศวกรรมระบบยานอวกาศปักกิ่ง ร่วมกันศึกษาตัวอย่างดินจากดวงจันทร์
ล่าสุด มีผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร National Science Review เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นรายงานการวิจัยฉบับแรกจากการศึกษาตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ในภารกิจฉางเอ๋อ-6 ทั้งลักษณะทางกายภาพ แร่ธาตุ องค์ประกอบทางเคมี โดยผลการศึกษา ระบุ ว่า ตัวอย่างดิน ที่ได้มาจากด้านไกลของดวงจันทร์ มีลักษณะที่แตกต่างจากตัวอย่างดินก่อนหน้านี้
ในด้านลักษณะทางกายภาพ ตัวอย่างดินจากยานฉางเอ๋อ-6 มีสีอ่อนกว่า มีความหนาแน่นต่ำกว่า และมีต้นกําเนิดของอนุภาคที่ซับซ้อนกว่าตัวอย่างดินจากยานฉางเอ๋อ-5
นักวิจัยยังศึกษาตัวอย่างดินด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่มีความละเอียดสูง สามารถขยายได้หลายแสนเท่า เทียบเท่ากับ 1 ใน 60,000 ของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ทำให้สามารถศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบของแร่ที่พบในดิน โดยนักวิจัยระบุว่า จากตัวอย่างดังกล่าว ยังพบเศษหินขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบภาพของหินบะซอลต์ในตัวอย่างดินจากยานฉางเอ๋อ-5 และ ฉางเอ๋อ-6 พบว่า โครงสร้างหินของทั้ง 2 ตัวอย่างมีความคล้ายคลึงกัน แต่ในรายละเอียดของแร่ที่พบมีความแตกต่างกัน
นอกจากนี้ องค์ประกอบด้านเคมีโดยรวมของตัวอย่างดินจากยานฉางเอ๋อ-6 ยังแตกต่างจากตัวอย่างดินของยานฉางเอ๋อ-5 โดยมีเป็นส่วนประกอบของไททาเนียมต่ำ อลูมิเนียมต่ำ และโพแทสเซียมต่ำ ซึ่งบ่งชี้ว่าการกําเนิดของหิน แหล่งที่มาของดิน และองค์ประกอบทางเคมีค่อนข้างแตกต่างจากตัวอย่างดินจากยานฉางเอ๋อ-5 แสดงให้เห็นว่าตัวอย่างดินที่นํามาจากด้านไกลของดวงจันทร์นั้นมีความแตกต่างจากตัวอย่างดินที่นำจากด้านใกล้ดวงจันทร์อย่างมาก
การศึกษาดินจากดวงจันทร์ ที่ผ่านมา มนุษย์ได้นําตัวอย่างดินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกได้สําเร็จ 10 ครั้ง ทั้งหมดมาจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ การศึกษาดินจากดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ-6 จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาดินจากด้านไกลของดวงจันทร์
นักวิจัย คาดว่า การศึกษานี้จะช่วยไขคำตอบเรื่องการศึกษาองค์ประกอบของดวงจันทร์ การก่อตัวของดวงจันทร์ และวิวัฒนาการของระบบสุริยะ โดยทีมนักวิจัยยังเปิดให้ผู้สนใจ ได้เข้าไปศึกษาข้อมูลด้านการสำรวจอวกาศ และการวิจัยดินจากดวงจันทร์ที่เว็บไซต์ Lunar Exploration and Deep Space Exploration ด้วย เพื่อให้นักวิจัยจากทั่วโลก ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาและต่อยอดองค์ความรู้จากภารกิจฉางเอ๋อ-6
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : พุธ 25 กันยายน 2567 21:28:59 เข้าชม : 1786925 ครั้ง