Home ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์ “สยามคูโบต้า” สร้างชุมชนเกษตรต้นแบบ ด้วยนวัตกรรมการปลูกพืชสมุนไพร

“สยามคูโบต้า” สร้างชุมชนเกษตรต้นแบบ ด้วยนวัตกรรมการปลูกพืชสมุนไพร

19 second read
0
0
56

เปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เขานาใน” แห่งแรกของภาคใต้

ชูจุดเด่นขมิ้นชันจากแหล่งปลูกที่ดีที่สุดของไทย มุ่งต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จับมือ วิสาหกิจชุมชนบ้าน เขานาใน สร้างชุมชนต้นแบบด้านการเกษตร เดินหน้าเปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน” ความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่แห่งแรกของภาคใต้ ภายใต้บทบาทการส่งเสริมองค์ความรู้ด้วยระบบ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS นวัตกรรมเกษตรครบวงจรของสยามคูโบต้า ในการปลูกพืชสมุนไพร ชูจุดเด่น Womenomics พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ด้วยบทบาทกลุ่มเกษตรกรหญิงแกร่งแห่งวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน พร้อมต่อยอดผลผลิต “ขมิ้นชัน” จากแหล่งปลูกที่ดีที่สุดของไทย สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป สร้างแหล่งงาน และรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร พร้อมต่อยอดให้เกิดการถ่ายทอดให้เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป

นายจูนจิ โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงการเข้าไปสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสู่การเป็น ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เขานาใน ครั้งนี้ว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่ที่สยามคูโบต้าได้มีโอกาสเข้าไปร่วมมือและสนับสนุนองค์ความรู้ให้แก่ วิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนับเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าลำดับที่ 6 และเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งแรกของภาคใต้ ด้วยการส่งเสริมการเพาะปลูกด้วยระบบ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS นวัตกรรมเกษตรครบวงจร เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต  โดยชูจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญในการปลูกขมิ้นชัน และการเป็น Womenomics หรือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยบทบาทกลุ่มเกษตรกรหญิงแกร่งแห่งวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาในที่มีศักยภาพความมุ่งมั่นบวกกับความพร้อมและความตั้งใจ

ทั้งนี้ สยามคูโบต้ามีนโยบายการดำเนินธุรกิจในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมบนพื้นฐานความยั่งยืน เราจึงมุ่งเน้นไปยังเกษตรกรผู้ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเรา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้เข้มแข็ง ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดความรักและภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเอง เราจึงได้ดำเนิน “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” มาตั้งแต่ปี 2554 โดยมีเป้าหมายพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ มีความตั้งใจในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างชุมชนต้นแบบด้านการเกษตร ด้วยการสนับสนุนของสยามคูโบต้าตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ผ่านกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านการตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

หลังจากสยามคูโบต้าเข้ามาศึกษาวิเคราะห์พื้นที่การเกษตรของวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน พบว่า ต้นทุนการปลูกขมิ้นชันค่อนข้างสูง แต่กลับได้ผลผลิตต่ำ ส่งผลต่อรายได้ที่ไม่แน่นอน สยามคูโบต้าจึงได้ส่งเสริมแปลงปลูกขมิ้นชันด้วยวิธีการ KAS พบว่า ผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 % ในขณะที่ต้นทุนลดลง 38 % และมีกำไรเพิ่มขึ้น 36 % ในด้านการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สยามคูโบต้าได้เตรียมการขอมาตรฐานรับรองสินค้า พร้อมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และวางแผนช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ สำหรับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้มีการจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้การศึกษาดูงาน รวมถึงเรียนรู้วิธีการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งรวมความรู้ด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นชุมชนเกษตรต้นแบบด้านการใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจรในการปลูกพืชสมุนไพร และเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในการผลิตสมุนไพร เกิดการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ชุมชน ต่อยอดรายได้ให้เศรษฐกิจของจังหวัด ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกร และผู้สนใจ ต่อไป”

ด้าน นางหนูเรียง จีนจูด ประธาน วิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน และประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าว่า “สยามคูโบต้าได้เข้ามาร่วมสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน เมื่อปี 2564 โดยต่อยอดจุดเด่นของวิสาหกิจชุมชนฯ ด้านการปลูกขมิ้นและสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากขมิ้นที่กำเนิดบนแหล่งปลูกที่ดีที่สุดของไทย จึงทำให้มีสารเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoid) สูงและได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI (Geographical Indication) ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาในมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 35 คน มีพื้นที่การเกษตรรวม 600 ไร่ ปลูกยางพารา 390 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 210 ไร่ และขมิ้นชัน 100 ไร่ เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์แปรรูป ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพร และการนวดแผนไทยที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้         ยังสร้างธนาคารขมิ้น รวม 6 สายพันธุ์ ได้แก่ ขมิ้นชัน ขมิ้นแดงสยาม ขมิ้นดำ ขมิ้นขาว ขมิ้นด้วง และขมิ้นอ้อย เพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์ ช่วยลดต้นทุน และสร้างรายได้เพิ่ม

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มแรก ได้มีการพัฒนางานแปรรูปร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และดำเนินการจัดทำแปลงทดสอบขมิ้นชันด้วยวิธีการ KAS ร่วมกับสยามคูโบต้า ต่อมาได้รับเครื่องจักรกลการเกษตร แทรกเตอร์ รุ่น L5018SP และอุปกรณ์ต่อพ่วง ผ่านโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ มาใช้บริหารจัดการร่วมกันในชุมชน ช่วยสร้างรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน รวมถึงสร้างมาตรฐานการผลิตสมุนไพรควบคู่กับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จนถึงวันนี้ ได้รับโอกาสจากสยามคูโบต้าในการจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน โซนอาคารแปรรูปสมุนไพร และโซนแปลงส่งเสริมการปลูกขมิ้นชันด้วย ระบบ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS นับเป็นการยกระดับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันเกษตรกรของเรายังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนให้ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ มีความพร้อมในการต้อนรับเหล่าเกษตรกรและทุกคนผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาอีกด้วย

ทั้งนี้ สยามคูโบต้า มีแผนในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตร สร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน ในลำดับต่อไปเพื่อให้เกิด “การทำธุรกิจชุมชนต้นแบบ” โดยเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และศูนย์นวดแผนไทยของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปตลาดต่างประเทศ และท้ายที่สุดคือ เป้าหมายในการพัฒนาต่อยอดความยั่งยืนเป็น “ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน” หรือ Smart Farming Model ของภาคใต้ พร้อมเป็นพลังแห่งการส่งต่อไปยังพี่น้องเกษตรกรและภาคการเกษตร ต่อไป

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ :   ศุกร์ 18 ตุลาคม  2567  18:54:59 เข้าชม 1695744 ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์
Comments are closed.

Check Also

อบจ.ภูเก็ต รับเกียรติบัตร หน่วยงานที่สนับสนุน การดำเนินงานสถานีตำรวจภูธรกมลา

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายทิวัตถ์ สีด … …