ช่วงไม่กี่ปี ที่ผ่านมา อาชญากรรมทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ได้กระจายสร้างความเสียหายในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มมิจฉาชีพใช้เครือข่ายข้ามชาติ และเทคโนโลยีขั้นสูง ในการก่ออาชญากรรม ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนในแต่ละประเทศ
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ ต้องเผชิญกับปัญหาอาชญากรรมประเภทนี้ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง “กรณีหวังซิง” ซึ่งกลายเป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้ ได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวจีน อย่างรุนแรง และทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยเสียหาย ปัญหาเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทย เสื่อมเสียในเวทีนานาชาติ เท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความท้าทายต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยและความมั่นคงของภูมิภาค อีกด้วย ดังนั้น การกระชับความร่วมมือ ระหว่าง จีนและไทย ในการปราบปรามอาชญากรรมทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทยเห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดฉบับหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการเพิ่มโทษต่อการกระทำผิดบนแพลตฟอร์ม P2P ควบคุมการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด และกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ธนาคาร และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียหายมากขึ้น มาตรการนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทย ตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมทางโทรคมนาคม และมุ่งมั่นที่จะใช้มาตรการที่แข็งแกร่งเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของอาชญากรรม ดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน ตำรวจ จีนและไทย ได้เพิ่มความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพในพื้นที่เมียววดี ประเทศเมียนมา
ตามข้อเสนอ 6 ประการ ของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ทั้งสองฝ่ายจะเน้นการปราบปรามห่วงโซ่ทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ ปิดกั้นเส้นทางลักลอบขนส่งสิ่งผิดกฏหมาย และจะตั้งศูนย์ประสานงานจีน-ไทยเพื่อปราบปรามอาชญากรรมทางโทรคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพในการจับกุมตัวผู้ร้ายอย่างรวดเร็ว และลดผลกระทบของอาชญากรรมต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังมีแผนที่จะร่วมมือกับจีนในการตั้งคณะทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรม และเพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมการไหลออกของทรัพย์สินของกลุ่มมิจฉาชีพ
“กรณีหวังซิง” ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้น ตระหนักถึงอันตรายร้ายแรงของอาชญากรรมทางโทรคมนาคม อาชญากรรมเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังมักเกิดขึ้นพร้อมกับการกระทำอันเลวร้ายอื่นๆด้วย เช่น การค้ามนุษย์และการข่มขู่ด้วยความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้เหยื่อต้องสูญเสียอย่างไม่อาจกู้คืนได้
รัฐบาลจีน ได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมทางโทรคมนาคมมาโดยตลอด และเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจับกุมและลงโทษผู้กระทำผิดให้มากขึ้น การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังย่อมส่งผลดีต่อการจัดการอาชญากรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การปราบปรามอาชญากรรมทางโทรคมนาคมไม่สามารถสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องเพิ่มความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูล และการบังคับใช้กฎหมาย นอกเหนือจากการลงโทษกลุ่มอาชญากรอย่างเข้มงวดแล้ว ยังต้องดำเนินมาตรการป้องกันจากต้นตอของปัญหา เช่น การเพิ่มมาตรการควบคุมอินเทอร์เน็ต ควบคุมธุรกรรมทางการเงิน และเพิ่มการตรวจสอบในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตลอดจนยกระดับความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันการฉ้อโกง ทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต มีแต่ทุกประเทศร่วมมือกันและสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวเท่านั้นจึงจะสามารถกำจัดปัญหาการฉ้อโกงทางไซเบอร์ข้ามพรมแดนได้อย่างแท้จริง
ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญในจีนและไทย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเพิ่มความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมทางโทรคมนาคมระหว่างสองฝ่ายนั้น เป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นมาตรการสำคัญในการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองประเทศ แต่ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวไทยและส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคด้วย
หวังว่า ด้วยความร่วมมือจีน-ไทยและประชาคมระหว่างประเทศ จะสามารถกำจัดอาชญากรรมทางโทรคมนาคมให้หมดไปโดยเร็ว และสร้างคุณูปการให้กับเสถียรภาพและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์
เขียน โดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : ศุกร์ 31 มกราคม 2568 16:02:59 เข้าชม : 1689700 ครั้ง