
กรุงเทพฯ 28 เมษายน 2568 —เมื่อ 25 ปี มาแล้ว สมเถา สุจริตกุล คีตกวีและประพันธกร ผู้ใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา โดยไม่คิดกลับมาประกอบอาชีพในเมืองไทย ได้รับเชิญให้ประพันธ์มหาอุปรากร เพื่อช่วยหาทุนบำรุงรักษา และซ่อมแซมวังพญาไท สมเถาเลือกเนื้อหาจากพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (พระนามเดิมประไพ สุจริตกุล น้องสาวร่วมบิดามารดากับปู่ผู้ประพันธ์) มัทนะพาธาเป็นละครคำฉันท์ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของเชคสเปียร์ที่ทรงชื่นชมเป็นพิเศษ เป็นเรื่องของหญิงงามที่ถูกสาปให้เป็นกุหลาบในโลกมนุษย์ จะกลายร่างเป็นมนุษย์ได้ในแสงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น
“มัทนามีสัมพันธ์สวาทกับพระชัยเสน” สมเถาอธิบาย “ทำความโกรธแค้นให้พระราชินี ความหวานจนขมของเรื่องคือจินตนาการแฟนตาซี… ไม่มีเรื่องไหนเหมาะสำหรับโอเปร่ามากกว่านี้อีกแล้ว”
ผลงานครั้งนี้ สมเถาปล่อยวางสไตล์ร่วมสมัย ที่เข้มข้นของเขาจนหมดสิ้น เพื่อรังสรรค์ดนตรีประกอบเนื้อร้องที่สมบูรณ์แบบ โดยผสมผสานยุคสมัยดนตรีโรแมนติคกับสีสันแห่งเอเชีย ผลปรากฏ ว่า การนำเสนอ “มัทนา” ที่ศูนย์วัฒนธรรมมีผู้สนใจเข้าชมเต็มทุกที่นั่ง ทุกรอบเป็นรอบเสด็จของเจ้านายระดับสูงทั้งไทย และต่างประเทศ อาทิ พระเจ้าโบดวงแห่งเบลเยียม (เมื่อยังทรงพระราชอิสริยยศเป็นมงกุฎราชกุมาร) กับพระชายา การแสดงครั้งนั้น จึงได้รับการยกย่องจากนิตยสาร “โอเปร่านาว” แห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ว่าเป็น “The Operatic Event of the Year”
ความสำเร็จจากผลงานสร้างสรรค์นวนิยาย ดนตรีและภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ทำให้สมเถาก่อตั้ง “โอเปร่าสยาม หลังจากนำเสนอมหาอุปรากร อีก 67 เรื่อง โอเปร่าสยามจึงเป็นที่ยอมรับว่าเป็น ‘ตัวยืน’ แห่งภาพลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม ผลงานของโอเปร่าสยามเป็นข่าวในสื่อนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นโอเปร่าสยามยังให้กำเนิดคีตศิลป์นานาแขนงรวมทั้งวงดุริยางค์ เช่น สยามซินโฟนิเอตต้า สยามฟิลฮาร์โมนิค คณะนักร้องประสานเสียงออร์เฟียส คาลลิโอพิคอรัส และโครงการฝึกสอนศิลปินแห่งอนาคต
เมื่อหันกลับไปมองอดีตเมื่อ 25 ปี มาแล้ว บัดนี้ถึงเวลานำเสนอ “มัทนา” อีกครั้ง ครั้งนี้…หลังจากเวลาผ่านไปนานถึงหนึ่งส่วนสี่ศตวรรษ ครั้งนี้นักแสดงที่ถือกำเนิดในเมืองไทยจะแสดงบทสำคัญ อาทิ นาฎลดา ธรรมธนาคม เริ่มจากนักร้องประสานเสียงของโอเปร่าสยาม ปัจจุบันเป็นดารานำในฐานะสมาชิกประจำฟลันเดอร์สโอเปร่า ประเทศเบลเยียม นาฎลดาจะรับบทมัทนา สาวงามกึ่งกุหลาบ, กฤติมา สิริวัฒนกมล โซปราโนเด่นดังในมหาอุปรากรไดโด
ริโกเล็ตโต และทศชาติ แสดงสองบทควบ ได้แก่ อราลี นางกำนัลจอมวางแผน กับสุเทษณเทพบุตรแห่งสวรรค์ รวมทั้งนักแสดงนำที่น่าสนใจที่สุดได้แก่ศิโยน ดาวรัตนหงส์ สมัยเป็นนักเรียนมัธยมเมื่อปี 2544 ศิโยนเคยลอบเข้าไปที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ นั่งฟังเสียงขับร้องโอเปร่าที่ห้องโถงด้านหน้าเนื่องจากไม่มีเงินซื้อบัตรชมการแสดง อิทธิพลของเสียงที่ได้ยินได้ฟังคือแรงบันดาลใจให้เธอตัดสินใจเป็นนักร้องมหาอุปรากร บัดนี้ความฝันของเธอเป็นจริง ศิโยนมีผลงานทั่วโลกรวมทั้งที่คาร์เนกีฮอลล์ นิวยอร์ก
แสดงว่า โอเปร่าสยาม มีอิทธิพลในด้านการสร้างสรรค์นักร้องนักดนตรี ระดับโลก หนึ่งในบรรดาผู้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ได้แก่ ทฤษฎี ณ พัทลุง ซึ่งจะทำหน้าที่อำนวยดนตรี ทฤษฎี วาทยกรสังกัดโอเปร่าสยาม เคยอำนวยดนตรีให้วงดุริยางค์มีชื่อในต่างประเทศ อาทิ Rai Orchestra กรุงโรม Verdi Orchestra แห่งมิลาน และ Scottish National Orchestra ฯลฯ
นอกจากนักแสดงนำที่เอ่ยนามมาแล้ว ยังมีเคนเนธ ทาร์เวอร์ ผู้รับบท พระเจ้าชัยเสน เขาเป็นนักร้องประจำแห่งคอเวินท์ การ์เดน (สหราชอาณาจักร) เดอะเมท (สหรัฐอเมริกา) และไบรอยธ์ (เยอรมนี), เดเมียน ไวท์ลีย์ จากโอเปร่าออสเตรเลีย คณะมหาอุปรากรซูริค (สวิตเซอร์แลนด์) และมาดริด (สเปน) เดเมียนมีแฟนประจำมากมายเนื่องจากเคยเดินทางมาแสดงในกรุงเทพฯ แล้วหลายครั้ง ดาราหน้าใหม่ของบ้านเรา ได้แก่ แอนดรูว์ ไอเซนมานน์ ซึ่งตัดสินใจสละเวลา 1 ปีเต็ม ร่วมงานกับโอเปร่าสยาม ผู้ทำหน้าที่ออกแบบลีลาระบำ ได้แก่ แดร์เรน รอยสตัน ผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก
“เราจะนำเสนอผลงานที่ค่อนข้างแตกต่างกว่า เมื่อปี 2544” สมเถา กล่าว “การออกแบบ เมื่อปี 2544 สื่อถึงโลกจินตนาการอันมีรากฐานจากนิยายปรำปราไทย ส่วนการเสนอครั้งนี้เราเน้นมุมมองของไทยสมัยคริสตทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับนิยายต้นฉบับ ยุคสมัยที่วัฒนธรรมไทยน่าสนใจ เพราะอยู่ในช่วงผสมผสานระหว่างนวัตการตะวันตกกับไทยดั้งเดิม”
มหาอุปรากรมัทนา ยุคใหม่ นำเสนอ โดย โอเปร่าสยามร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ผู้สนับสนุนรายบุคคลคนและบริษัทหลากหลายรวมทั้งมูลนิธิไทย (Thailand Foundation) ทั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองวาระมหามงคล กล่าวคือ
70 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
100 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
50 ปี สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
40 ปี โครงการศิลปินแห่งชาติ
25 ปี โอเปร่าสยาม
“มัทนา” เปิดแสดงรอบเดียวที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 19.30 น. โอเปร่าสยาม ยินดีมอบบัตรอภินันทนาการให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งทางไลน์ที่ LINE@operasiam หรืออีเมล์ operasiam.pr@gmail.com โปรดแจ้งชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ และจำนวนบัตรที่ท่านต้องการ เราจะจัดที่นั่งให้ในระบบ ‘มาก่อน-ได้ก่อน’ จนกว่าจะเต็มทุกที่นั่ง
ผู้บริจาคสมทบทุนการผลิตจะได้รับที่นั่งในโซนวีไอพี/กาล่า ผู้บริจาคระดับพิเศษ (Premium Donor) จะได้รับเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองก่อนแสดง ผู้สนใจโปรดติดต่อ ticket melon.com/operasiam/madana และเลือกที่นั่งชมการแสดง
เครื่องแต่งกาย
ผู้ชมทั่วไป : แต่งกายสุภาพ หรือเครื่องแบบ ห้ามสวมกางเกงขาสั้น ชุดกีฬา หรือออกกำลังกาย รองเท้าแตะ
โซนวีไอพี. : ชาย – ชุดสากลนิยม / หญิง – ชุดราตรี หรือชุดประจำชาติ
มัทนาเป็นมหาอุปรากร 3 องก์ ตามแบบฉบับมหาอุปรากร ดั้งเดิม ใช้เวลา 127 นาที รวมหยุดพัก 2 ช่วง ระหว่างแสดง
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : จันทร์ 28 เมษายน 2568 15:00:00 เข้าชม : 1569224 ครั้ง