
เซี่ยงไฮ้, 29 เม.ย. (ซินหัว) — สำนักงานใหญ่ของศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจจีน (CEIS) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือด้านบริการข้อมูลเศรษฐกิจของสำนักข่าวซินหัว ได้ร่วมมือกับสถาบันซินหัว (Xinhua Institute) เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ว่าด้วยตลาดขนาดใหญ่ และการเชื่อมโยงจีน-อาเซียน เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
รายงานดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในงานฟอรัมสื่อและคลังสมองจีน-อาเซียน ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย งานดังกล่าวร่วมจัดโดยสำนักข่าวซินหัวและสำนักข่าวแห่งชาติมาเลเซีย มีผู้แทนจากหน่วยงานสื่อ คลังสมอง หน่วยงานรัฐบาล และภาคธุรกิจมากกว่า 160 แห่งจากจีนและประเทศอาเซียนเข้าร่วม ราว 200 คน
รายงานซึ่งใช้ชื่อว่า “แนวโน้มตลาดขนาดใหญ่และการเชื่อมโยงจีน-อาเซียน” เผยแพร่บทวิเคราะห์อย่างรอบด้านเกี่ยวกับความคิดริเริ่มในการสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงที่ครอบคลุมและหลากหลายระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเน้นในประเด็นการค้าและการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน และการบูรณาการทางการเงิน
นอกจากนี้ รายงานยังเสนอแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและอาเซียน พร้อมทั้งนำเสนอข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และรับมือกับรูปแบบการค้าโลกยุคใหม่
รายงาน ระบุ ว่า “ท่ามกลางแนวโน้มการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก การเสริมสร้างการเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อย่างจีนและอาเซียนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์ร่วมกัน” โดยชี้ว่าจีนและอาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันต่อเนื่องเป็นปีที่ห้า
รายงานยังเน้น ว่า การพัฒนาตลาดขนาดใหญ่ร่วมกันซึ่งมีประชากรรวมกว่า 2 พันล้านคน จะสร้างประโยชน์เป็นรูปธรรมในภูมิภาค ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากเอฟเฟกต์การรวมกลุ่มอุตสาหกรรม การขยายการค้าภายในภูมิภาคเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และการสร้างกลไกสถาบันเพื่อปกป้องการค้าเสรีจากแนวโน้มกีดกันการค้าระหว่างประเทศ
รายงาน เสริม ว่า “การเชื่อมโยงอย่างแข็งแกร่ง” ด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นรากฐานของการบูรณาการเศรษฐกิจจีน-อาเซียน จึงเสนอให้เสริมความร่วมมือด้านรถไฟ ถนน ท่าเรือ สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อเปิดเส้นทางการขนส่ง ลดเวลาและต้นทุนการขนส่ง และยกระดับประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ในระดับภูมิภาค
รายงาน ระบุ ว่า ความพยายามดังกล่าวมีความสำคัญต่อการเปิดกว้างเส้นทางโลจิสติกส์ระหว่างจีนและอาเซียน ช่วยประหยัดเวลาขนส่งและต้นทุน ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ขณะเดียวกัน “การเชื่อมโยงเชิงนโยบาย” ก็มีบทบาทสำคัญยิ่ง รายงานจึงเรียกร้องให้เร่งดำเนินการตามข้อกำหนดด้านการคและการลงทุนภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงเร่งลงนามพิธีสารปรับปรุงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (ACFTA) 3.0
ข้อตกลงการค้าดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการผสานกฎระเบียบและการยอมรับมาตรฐานร่วมกันระหว่างจีนและอาเซียน ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค
รายงานยังชี้ว่าด้วยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และความเกื้อกูลทางเศรษฐกิจ จีนและอาเซียนต่างมีรากฐานที่แข็งแกร่งในการขยายความร่วมมือในสาขาเกิดใหม่ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว (สิ่งแวดล้อม) และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (ทะเลและชายฝั่ง)
ท่ามกลางการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแนวโน้มการสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศหลังยุคโควิด-19 จีนและอาเซียนมีความมั่นคงในการร่วมสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง ยืดหยุ่น และบูรณาการมากขึ้นในภูมิภาค
รายงาน ยังเสริม ว่า การลงนามพิธีสารปรับปรุงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน 3.0 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ จะเปิดศักราชใหม่แห่งความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน และอาเซียน ด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น การเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการบูรณาการที่กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมส่งแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก
(เนื้อหา โดย Gao Pan, เรียบเรียงโดย Niu Huizhe, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/512020_20250429 , https://en.imsilkroad.com/p/345268.html)
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : อังคาร 29 เมษายน 2568 18:42:59 เข้าชม : 1687945 ครั้ง