Home ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์ SX TALK SERIES ครั้งที่ 4 เปิดเวที แลกเปลี่ยนมุมมอง ความหลากหลาย ที่ไม่แตกต่างในสังคม

SX TALK SERIES ครั้งที่ 4 เปิดเวที แลกเปลี่ยนมุมมอง ความหลากหลาย ที่ไม่แตกต่างในสังคม

34 second read
0
0
260

การเปิดเผยตัวตนเรื่องรสนิยมทางเพศ เป็นเรื่องที่เปิดกว้าง และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น นำไปสู่ความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพศหญิง และเพศชาย  SX TALK SERIES ครั้งที่ 4 กับหัวข้อ HEALTHY PRIDE “หลากหลายอย่างมีสุข” โดย 4 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้อธิบายเกี่ยวกับทัศนคติ ของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (LGBTQ+)  กับการเปิดรับของสังคม และความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างน่าสนใจ ณ  C asean SAMYAN CO-OP ชั้น 2 สามย่านมิตรทาวน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

บรรยากาศการพูดคุยแบบสบาย ๆ เริ่มจาก คลินิกสุขภาพเพศ รพ.จุฬาลงกรณ์ ต้นแบบบริการสุขภาพทางเพศอย่างเท่าเทียม’ โดย รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  กล่าวว่า “คลินิกสุขภาพเพศ หรือ Gender Health Clinic ของ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 เพื่อยกระดับการบริการสุขภาพทางเพศ ครบวงจร อย่างเท่าเทียมภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดย ทีมแพทย์สหสาขา ซึ่งเป็นไปตาม The World Professional Association for Transgender Health (WPATH) อีกทั้งองค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนด ว่า ภายในปี 2030 ผู้คนทั่วโลก กำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมายโลก ที่สะท้อนความยุติธรรมสากลสู่ความเสมอภาคด้านสุขภาพ อย่างยั่งยืน บนความหลากหลายทางเพศ โดยจะไม่มีใครต้องต้องเผชิญกับภาวะสุขกายและจิตอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป หากใครสนใจสามารถเข้ารับบริการ ที่คลินิกสุขภาพเพศได้ทุกวันจันทร์ และวันพฤหัสบดี 13.00-16.00 น. หรือที่ โครงการของกรุงเทพมหานคร BKK Pride Clinic คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย ซึ่งมีอยู่ 20 แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร ”

 ‘ความหลากหลาย ไม่ใช่ความผิดปกติ’

อ.นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  เปิดเผย “รสนิยมทางเพศ ความรู้สึกนึกคิด เพศสภาพที่อาจจะสอดคล้องกับจิตใจหรือไม่สอดคล้องอย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ถือเป็นความหลากหลายไม่ใช่ความผิดปกติ จากข้อมูลในอดีต พบว่าการบำบัดแก้เพศวิถี หรือ Conversion Therapy การเปลี่ยนรสนิยมหรืออัตลักษณ์บุคคลให้ตรงกับร่างกายไม่ประสบความสำเร็จ ทำไปแล้วยิ่งสร้างความเครียด ปัจจุบันจึงมีแนวคิด Gender affirming care คือเปลี่ยนร่างกายให้ตรงกับจิตใจ และพบว่าหลังจากทำมาระยะนึง กลุ่มคนเพศหลากหลายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น แต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทุกขั้นตอน เพื่อเป็นคนข้ามเพศที่สมบูรณ์ ทุกคนครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว กระบวนการจากแพทย์ คือ การทำให้เราได้เป็นเราในเวอร์ชั่น ที่เราพอใจ และเหมาะสม การเปลี่ยนแปลง มีหลายวิธี ทั้งทางภายนอก และภายใน ต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อไม่เกิดผลเสียกับร่างกาย จึงต้องมีการปรึกษากับแพทย์ ”

‘เปลี่ยนความคิด กินยาคุม () ฮอร์โมน

ผศ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “หลายคนอาจไปซื้อยาคุมกำเนิดตามร้านขายยามาใช้ เพราะมีความเชื่อในการช่วยปรับฮอร์โมนเรื่องเพศ ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรใช้ในการข้ามเพศ เพราะมีความเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดอุดตันถึง 20 เท่า เราควรใช้ฮอร์โมน natural estrogen คือฮอร์โมนที่เกิดจากธรรมชาติดีที่สุด และสิ่งสำคัญก่อนการใช้ฮอร์โมน แนะนำควรเก็บเซลล์สืบพันธุ์ไว้ก่อนทุกกรณี เพราะถ้าเราใช้ฮอร์โมนแล้วจะส่งผลเสียต่อเซลล์สืบพันธุ์ และถ้าเป็นในกลุ่มเด็กจะไม่ใช้ฮอร์โมนแต่ใช้การดูแลและความเข้าใจจากครอบครัว โรงเรียน ถ้าในกลุ่มวัยรุ่นจะเริ่มใช้ยาฉีดเพื่อไปกดการพัฒนาของหน้าอก และอัณฑะ และสำหรับวัยผู้ใหญ่ ต้องดูว่าร่างกายเรามีข้อห้ามหรือไม่ เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งบางอย่าง จะไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้ ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมน หรือผ่าตัด ทุกคนสามารถเป็น Transgender ได้ สามารถเข้าไปปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง”

‘เข้าใจ เตรียมพร้อม เพื่อการข้ามเพศอย่างปลอดภัย’

ผศ.พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “การผ่าตัด เมื่อก่อนเราจะเรียกว่าผ่าตัดแปลงเพศ แต่ในปัจจุบันเราเรียกว่าการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ จริง ๆ แล้วไม่มีผิดหรือถูก แต่เป็นการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพื่อความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น การผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2518 สำหรับการเตรียมตัวผ่าตัดในส่วนอวัยวะเพศ ต้องได้รับฮอร์โมนอย่างน้อย 6 เดือน และต้องใช้ชีวิตแบบที่ต้องการจะเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนติดต่อกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าหากผ่าตัดแล้วจะไม่รู้สึกเปลี่ยนใจ เสียใจ ในภายหลัง เพราะไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาได้ การดูแลก่อนผ่าตัด ต้องหยุดการใช้ฮอร์โมน เพราะการผ่าตัดใช้เวลานาน อาจมีภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ หยุดสูบบุหรี่ การจะผ่าตัดยืนยันเพศสภาพต้องมีความพร้อม เพราะเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอวัยวะเพศที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับได้ การผ่าตัดนี้พบว่าคนไข้มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเข้าใจโรค การผ่าตัด การดูแลตนเอง เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่ดี ทำให้สามารถผ่านการยืนยันเพศสภาพและการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย”

SX TALK SERIES เป็นเวทีเสวนาที่มากกว่าการแลกเปลี่ยนความรู้ และ SX TALK SERIES ครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นใน วันที่ 27    กรกฎาคม 2567 ที่ C asean SAMYAN CO-OP ชั้น 2 สามย่านมิตรทาวน์  ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมดี ๆ เพื่อความยั่งยืนได้ที่ www.sustainabilityexpo.com, Facebook : Sustainability Expo และแอปพลิเคชัน SX

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : ศุกร์ 12 กรกฎาคม 2567  09:16:59 เข้าชม : 1589224 ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์
Comments are closed.

Check Also

Boonlapo and Pasticceria Cova Montenapoleone Host Contract Signing Ceremony to Introduce Premium Italian Pastry Experience to Southeast Asia

Bangkok, October 30, 2024 — Boonlapo Company Limited an … …